โครงการศึกษาความเหมาะสมเพื่อการพัฒนาพื้นที่ตั้งรัฐสภาแห่งใหม่

โครงการศึกษาความเหมาะสมเพื่อการพัฒนาพื้นที่ตั้งรัฐสภาแห่งใหม่

ด้วยอาคารรัฐสภาเดิมซึ่งตั้งอยู่ด้านทิศเหนือของพระที่นั่งอนันตสมาคม ได้ใช้เป็นที่ปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ข้าราชการ ฯลฯ ตั้งแต่ปี 2517 มีความแออัด ที่จอดรถไม่เพียงพอ การจราจรติดขัด เข้าถึงพื้นที่ไม่สะดวก ส่งผลให้การทำงานไม่คล่องตัวและไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ในปี 2546 ผู้บริหารของรัฐสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ประชุมร่วมกันและมีมติให้เตรียมการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ จากนั้นสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ว่าจ้าง คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการศึกษาโครงการนี้

วัตถุประสงค์ 

1) ศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่โครงการในการพัฒนาความเป็นเมืองใหม่รัฐสภาและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาและตัดสินใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง 
2) จัดทำผังแม่บท แผนงบประมาณ แผนปฏิบัติงานเบื้องต้น และสามารถใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนรายละเอียดของพื้นที่ที่เหมาะสมในอนาคตต่อไป และ 
3) เพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำแผนการลงทุนด้านผังเมือง การท่องเที่ยว และการสร้างโอกาสในการลงทุนจากต่างประเทศ โดยให้มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทย

พื้นที่การศึกษา 5 แห่ง ได้แก่ 

1) บริเวณถ้ำเขาพระ อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี 
2) อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา 
3) พื้นที่การรถไฟแห่งประเทศไทย เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 
4) พื้นที่ราชพัสดุทหาร เขตดุสิต ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และ 
5) พื้นที่บริเวณคลังแสง กรมสรรพาวุธ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 

การวิเคราะห์ความเหมาะสม

ตามเกณฑ์การพิจารณาความเหมาะสมและให้คะแนนความสำคัญด้านกายภาพ วิศวกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ผลปรากฏว่า บริเวณถ้ำเขาพระ อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี มีความเหมาะสมมากที่สุดร้อยละ 70.65 รองลงมาคือพื้นที่การรถไฟแห่งประเทศไทย จตุจักร กรุงเทพฯ ร้อยละ 68.59 จากนั้นได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ตั้งอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ฯ ด้วยเงินงบประมาณ 27,985 ล้านบาท ในระยะเร่งด่วน (ปี 2546-2548) แผนระยะกลาง (ปี 2549-2555) และแผนระยะยาว (ปี 2556-2595) 

 

ที่มา : มหาวิทยาลัยมหิดล คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์.(2546).โครงการศึกษาความเหมาะสมเพื่อการพัฒนาพื้นที่ตั้งรัฐสภาแห่งใหม่. (:https://dl.parliament.go.th/handle/lirt/433696)

ผู้จัดทำ :
วลัยรัตน์ ชายท้าว, บรรณารักษ์ชำนาญการ กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักวิชาการ
ศรุดา พรมสิทธิ์, เจ้าพนักงานธุรการชำนาญงาน กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักวิชาการ
Created on