การจัดการขีดความสามารถ

การจัดการขีดความสามารถ

มนุษย์จะต้องพัฒนาตนเองให้เหนือกว่าเทคโนโลยีอยู่เสมอ

ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการดำเนินงานทดแทนแรงงานมนุษย์มากขึ้น และมีแนวโน้มจะมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพราะการทำงานของเทคโนโลยีมีความถูกต้องแม่นยำไม่แพ้มนุษย์ สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากกว่า อีกทั้ง ปัจจุบันมนุษย์ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีให้สามารถคิดหรือตัดสินใจ รวมถึงโต้ตอบระหว่างกันหรือระหว่างมนุษย์ได้อีกด้วย จึงถือเป็นยุคแห่งการปรับเปลี่ยนรูปแบบ ลักษณะการทำงานของมนุษย์ครั้งสำคัญ หากเปลี่ยนจากการใช้แรงงานมนุษย์มาเป็นเครื่องจักรกล มนุษย์จะต้องพัฒนาขีดความสามารถของตนเองให้สามารถควบคุมเครื่องจักรกลได้ จะต้องพัฒนาตนเองให้สามารถมองการณ์ไกล และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้ นั่นคือ "มนุษย์จะต้องพัฒนาตนเองให้เหนือกว่าเทคโนโลยีอยู่เสมอ" เพื่อให้สามารถควบคุมและใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

การจัดการขีดความสามารถ เป็นหนังสือที่ผู้เขียนได้นำเสนอองค์ความรู้ หลักการ และเครื่องมือเกี่ยวกับการจัดการขีดความสามารถ โดยเนื้อหาประกอบด้วย 

บทที่หนึ่ง เป็นการอธิบายความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดการขีดความสามารถ ความเป็นมา แนวคิด และความหมาย ความสำคัญและประโยชน์ของ ขีดความสามารถ ปัญหา อุปสรรคในการจัดการขีดความสามารถ และแนวทางแก้ไข 

ในบทที่สอง เป็นการอธิบายถึงองค์ประกอบของขีดความสามารถ ทั้งสี่ส่วน ได้แก่ มิติของขีดความสามารถ ประเภทของขีดความสามารถ ระดับของขีดความสามารถ รวมถึงระดับการทำงาน และ

บทที่สาม เป็นการนำเสนอกระบวนการสร้างขีดความสามารถในองค์กร การกำหนดทิศทางขององค์กร การตระหนักรู้ และประชุมปรึกษา การศึกษาค้นคว้า และสัมมนา การเข้าสู่ระเบียบวิธีวิจัย การจัดทำขีดความสามารถ การสื่อสารองค์การ 

สำหรับบทที่สี่ เป็นการอธิบายเกี่ยวกับการจัดการขีดความสามารถกับการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ได้แก่ การวางแผนทรัพยากรมนุษย์ การวิเคราะห์งาน การสรรหา การคัดเลือก ปฐมนิเทศ การสร้างแรงจูงใจ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การจัดการผลการปฏิบัติงาน แรงงานสัมพันธ์ 

สุดท้ายในบทที่ห้า เป็นการนำเสนอแนวทางการจัดการขีดความสามารถกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งรูปแบบการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 3 รูปแบบ คือ 

1. การศึกษา เช่น การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย การศึกษาตลอดชีวิต ฯลฯ  
2. การฝึกอบรม เช่น การบรรยาย การสัมมนา การอภิปราย ฯลฯ           
3. การสนับสนุน เช่น การฝึกสอน การให้คำปรึกษา ระบบพี่เลี้ยง การเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อน ฯลฯ 

ซึ่งในแต่ละบท ยังมีการสรุปประเด็นสำคัญ และการตั้งคำถามในตอนท้ายของแต่ละบท เพื่อทบทวนความเข้าใจอีกด้วย 

หนังสือ "การจัดการขีดความสามารถ" นี้พร้อมให้บริการ ท่านที่สนใจสามารถมาใช้บริการได้ที่หอสมุดรัฐสภา

 

ที่มา : โชติชวัล ฟูกิจกาญจน์. (2562). การจัดการขีดความสามารถ. [HF 5549.5.M3 ช825ก 2562]

ผู้จัดทำ :
สายฝน ดีงาม, บรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานห้องสมุด สำนักวิชาการ
สารภี ช้างพลี, เจ้าพนักงานห้องสมุดอาวุโส กลุ่มงานห้องสมุด สำนักวิชาการ
Created on