การปรับตัวของห้องสมุดในศตวรรษที่ 21

การปรับตัวของห้องสมุดในศตวรรษที่ 21

ปัจจุบันห้องสมุดทั่วโลกกำลังประสบกับความท้าทายนานาประการ อันเป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงในการเข้าถึงสารสนเทศ ด้วยอินเทอร์เน็ตและสื่อดิจิทัลที่ทำให้วิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ และการแสวงหาทรัพยากรสารสนเทศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การปรับเปลี่ยนมุมมองทางความคิดด้านการพัฒนาห้องสมุดให้ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่และมีความผันผวนตลอดเวลานี้เป็นสิ่งสำคัญ

เยนส์ธอร์ฮาวเกอ (Jens Thorhauge) ที่ปรึกษาการพัฒนาห้องสมุด ประเทศเดนมาร์ก ได้ให้นำเสนอในการบรรยายเรื่อง "Challenges in transforming libraries from collection centered to user centered organisations" ในงานประชุมวิชาการ TK Forum 2015 ว่าการใช้สื่อออนไลน์ของคนรุ่นใหม่ในเดนมาร์กเฉลี่ย 3.5-4 ชั่วโมงต่อวัน ในขณะที่การอ่านหนังสือลดลง ห้องสมุดประชาชนมีอัตราการยืมหนังสือลดลงอย่างต่อเนื่องประมาณ 6% ต่อปี อาจเป็นเวลาที่ต้องนับถอยหลังไปสู่วันที่ไม่มีคนยืมหนังสืออีกแล้วก็ได้ แต่ข่าวดีคือในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ที่เข้ามาใช้บริการห้องสมุดกลับเพิ่มขึ้นแต่ไม่ใช่เพื่อยืมหนังสือเป็นการมาใช้บริการด้วยเหตุผลที่หลากหลาย เช่น ต้องการใช้สถานที่ที่มีสิ่งอำนวย
ความสะดวกด้านการศึกษาค้นคว้า มาประชุม เข้าฟังการบรรยาย หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ เนื่องจากความรู้ส่วนใหญ่ในโลกปัจจุบันไม่ใช่สิ่งที่เหมาะจะบรรจุไว้ในชั้นหนังสืออีกแล้ว ในขณะที่ห้องสมุดกลับยังคงยึดติดอยู่กับหนังสือทางกายภาพ ในสถานการณ์เช่นนี้ ห้องสมุดมีทางออกอยู่ 3 ทาง คือ

ทางออกที่ 1 รักษาการให้บริการรูปแบบเดิมไว้ ซึ่งยังสามารถสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ใช้บริการที่ยังคุ้นเคยกับการเข้ามาที่ห้องสมุดเพื่ออ่านหนังสือ แต่จะค่อย ๆ สูญเสียผู้ใช้บริการที่เป็นคนรุ่นใหม่

ทางออกที่ 2 ปรับตัวให้กลายเป็นห้องสมุดดิจิทัล โดยการต่อยอดการให้บริการสารสนเทศดิจิทัลไปพร้อมกับการรักษาสถานภาพของห้องสมุดแบบที่เคยเป็นมา ซึ่งดูเหมือนจะสมเหตุสมผลหากสามารถเอาชนะอุปสรรคด้านลิขสิทธิ์ แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

ทางออกที่ 3 ออกแบบการให้บริการของห้องสมุดใหม่ ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้คนที่อยู่ในโลกโลกาภิวัตน์และยุคสมัยดิจิทัล โดยอาจต้องละทิ้งการมุ่งเน้นทรัพยากรหนังสือ แล้วหันไปให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งแม้จะเป็นแนวทางที่ยากที่สุดแต่น่าจะเป็นหนทางที่ยั่งยืนที่สุดสำหรับห้องสมุดประชาชน

การศึกษาเรียนรู้ที่เพิ่มขึ้นพร้อมกับการรู้จักตัวเอง อาจจะทำให้ห้องสมุดพบทางออกที่ 4 ก็เป็นได้

 

ที่มา : 

  • สำนักงานอุทยานการเรียนรู้. โหล : 12 ปี ทีเคพาร์ค สารพันเรื่องราวหลากหลายความคิด ว่าด้วยการเรียนรู้ พื้นที่การเรียนรู้ และนวัตกรรมห้องสมุด. (2560). [Z 678.8.T5 ห911 2560]
  • https://dl.parliament.go.th/handle/lirt/522757
ผู้จัดทำ :
ศิริพร โหตรภวานนท์, ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักวิชาการ
อภิรดี เสียมศักดิ์, เจ้าพนักงานธุรการปฏิบัติงาน กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักวิชาการ
Created on