คุณสมบัติใหม่ของเลขาธิการ ป.ป.ช.

Script Writer
โชคสุข กรกิตติชัย, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2021-08
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) จัดตั้งขึ้นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ต่อเนื่องมาจนถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีเจตนารมณ์เพื่อให้เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ได้บัญญัติให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) เป็นส่วนราชการและมีฐานะเป็นนิติบุคคล รับผิดชอบขึ้นตรงต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (เลขาธิการ ป.ป.ช.) เป็นผู้ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานโดยทั่วไปของสำนักงาน ป.ป.ช. ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ และมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปีนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว

การได้มาซึ่งเลขาธิการ ป.ป.ช. ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ซึ่งในอดีตนั้น ได้กำหนดคุณสมบัติบางประการ ได้แก่ 

1) เคยดำรงตำแหน่งหรือได้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ที่ปฏิบัติงานในฐานะรองเลขาธิการ ป.ป.ช. มาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี 

2) เคยดำรงตำแหน่งและปฏิบัติราชการในฐานะหัวหน้าส่วนราชการระดับกรม หรือไม่ต่ำกว่าศาสตราจารย์ซึ่งเคยบริหารงานในสถาบันอุดมศึกษาไม่ต่ำกว่าตำแหน่งคณบดีมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี 

3) ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรนักบริหารระดับสูงที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือ ก.พ. รับรอง หากไม่เคยผ่านการฝึกอบรมจะต้องเข้ารับการฝึกอบรมภายในระยะเวลา 1 ปี 

4) ผ่านการประเมินสมรรถนะหลักการบริหารของสำนักงาน ก.พ. หรือที่สำนักงาน ป.ป.ช. กำหนด และมีคุณลักษณะที่ต้องการ เช่น มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีความรู้ความเข้าใจในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต นโยบายการบริหารงาน ให้คำปรึกษาแนะนำอย่างเป็นรูปธรรม เป็นต้น

เลขาธิการ ป.ป.ช. นั้น นอกจากจะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และระเบียบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยการบริหารทรัพยากรบุคคลของสำนักงาน ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 แล้ว ปัจจุบันได้มีการกำหนดคุณสมบัติใหม่เพิ่มขึ้นอีกว่า ต้องเป็นผู้มีคุณวุฒิ ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญอันจะเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติงาน ดังต่อไปนี้ด้วย 

1) เป็นผู้สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 

2) ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง ดังนี้ 

(1) อธิบดีหรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นซึ่งเทียบเท่าอธิบดีตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี 
(2) ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี 
(3) ข้าราชการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าศาล รวมกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี 
(4) ข้าราชการอัยการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอัยการจังหวัด รวมกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี 
(5) ข้าราชการตำรวจซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้บัญชาการและเป็นหัวหน้าส่วนราชการ หรือหน่วยงานระดับกองบัญชาการมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี 
(6) ข้าราชการทหารซึ่งดำรงตำแหน่งรองเจ้ากรมพระธรรมนูญมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี 

3) มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการไต่สวนและวินิจฉัยคดี หรือกฎหมาย หรือการตรวจสอบบัญชีและทรัพย์สิน หรือการป้องกันการทุจริต หรือการบริหารราชการแผ่นดิน หรือการอื่นใดอันเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติงานของสำนักงาน ป.ป.ช. อย่างหนึ่งอย่างใดมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี 

4) ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรนักบริหาร ป.ป.ช. ระดับสูงของสำนักงาน ป.ป.ช. หรือหลักสูตรอื่นที่เทียบเท่าตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติในฐานะองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของสำนักงาน ป.ป.ช. (กปปช.) กำหนด 

5) ผ่านการประเมินสมรรถนะหลักทางการบริหารของสำนักงาน ก.พ. หรือที่สำนักงาน ป.ป.ช. กำหนด


นับตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา สำนักงาน ป.ป.ช. มีเลขาธิการ ป.ป.ช. มาแล้ว 7 คน และอีกไม่นานจะมีเลขาธิการ ป.ป.ช. คนใหม่ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ให้กับสำนักงาน ป.ป.ช. ช่วยให้งานด้านการบริหารจัดการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงานเกิดประสิทธิภาพและมีความต่อเนื่องในการสนับสนุนงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันของประเทศไทยให้มีคะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันที่ดีในสายตาของนานาชาติต่อไป

ภาพปก