การขอปรึกษาหารือของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม

Script Writer
สุภัทร คำมุงคุณ, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2021-07
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ในอดีตการขอปรึกษาหารือปัญหาที่เกี่ยวกับความเดือดร้อนของประชาชนหรือปัญหาอื่นใดก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม ไม่ได้มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติไว้อย่างชัดเจนในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เป็นเพียงแต่ดุลพินิจของประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่จะอนุญาตให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้นำประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับความเดือดร้อนของประชาชนมาปรึกษาหารือต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร แต่การปรึกษาหารือปัญหาดังกล่าวบางส่วนอาจไม่ได้นำไปสู่การดำเนินงานตามความประสงค์ของสมาชิกผู้หารืออย่างเป็นรูปธรรม

ต่อมาในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 21 ปีที่ 2 ครั้งที่ 11 วันที่ 14 มีนาคม 2545 จึงได้เริ่มให้มีการดำเนินงานเกี่ยวกับเรื่องการขอปรึกษาหารือของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมอย่างเป็นรูปธรรม โดยนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น ได้เห็นว่าการขอปรึกษาหารือปัญหาที่เกี่ยวกับความเดือดร้อนของประชาชนต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นประโยชน์ให้กับประชาชน เพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้มีดำริให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรรับข้อหารือของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ด้วยความเห็นชอบของนายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น

โดยแนวทางปฏิบัติประธานของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาอนุญาตให้สมาชิกได้หารือในช่วงเวลาก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม เมื่อมีสมาชิกยกมือแสดงความประสงค์ขอปรึกษาหารือจำนวนมาก ประธานของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาอนุญาตให้ปรึกษาหารือได้ตามลำดับ แม้จะไม่มีการกำหนดระยะเวลาและจำนวนเรื่องในการขอปรึกษาหารือ แต่เมื่อประธานของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาเห็นว่าสมาชิกได้นำเสนอประเด็นพอสมควรแล้วจึงอนุญาตให้สมาชิกคนต่อไปหารือได้ และเมื่อเห็นว่าได้เวลาสมควรที่จะดำเนินการตามระเบียบวาระการประชุม ประธานของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรสามารถสั่งให้ยุติการปรึกษาหารือได้ โดยส่วนใหญ่เป็นการขอปรึกษาหารือปัญหาที่เกี่ยวกับความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่และปัญหาที่มีผลกระทบต่อส่วนรวม รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการของสภาผู้แทนราษฎร

ภายหลังจึงได้เริ่มมีการบัญญัติเรื่องการขอปรึกษาหารือปัญหาที่เกี่ยวกับความเดือดร้อนของประชาชนหรือปัญหาอื่นใดก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ข้อ 17 โดยกำหนดให้เป็นอำนาจของประธานสภาผู้แทนราษฎรที่อาจอนุญาตให้สมาชิกปรึกษาหารือปัญหาที่เกี่ยวกับความเดือดร้อนของประชาชนหรือปัญหาอื่นใดได้ ในช่วงก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรกำหนด และให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งเรื่องดังกล่าวให้รัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องชี้แจงภายในสามสิบวัน และแจ้งให้สมาชิกทราบ เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มีโอกาสทำหน้าที่สะท้อนปัญหาของประชาชนได้มากขึ้น โดยผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อส่งเรื่องไปยังฝ่ายบริหาร ซึ่งหากอาศัยเฉพาะกระบวนการยื่นญัตติ หรือการยื่นกระทู้ถามที่มีเป็นจำนวนมาก อาจต้องใช้เวลาทำให้ไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้อย่างทันท่วงทีในขณะนั้น

จากนั้นการตราข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรฉบับถัดมา คือ ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 24 ยังคงกำหนดให้มีการบัญญัติเรื่องขอปรึกษาหารือปัญหาที่เกี่ยวกับความเดือดร้อนของประชาชนหรือปัญหาอื่นใดก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม และได้กำหนดเพิ่มเติมให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งเรื่องไปให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงภายในสามสิบวัน และแจ้งให้สมาชิกทราบด้วย ซึ่งจากช่วงเวลาการบังคับใช้ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 (ระหว่างพฤษภาคม 2562-เมษายน 2564) ได้มีสมาชิกขอปรึกษาหารือก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมเป็นจำนวน 5,688 ข้อหารือ ซึ่งการปรึกษาหารือดังกล่าวของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติในการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินโดยผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งเรื่องให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้รับทราบปัญหาและได้มีการติดตาม เพื่อให้เกิดการพิจารณาแก้ไขปัญหาอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนต่อไป

 

ภาพปก