แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกับการขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมของไทย

Script Writer
คณาธิป ไกยชน, วิทยากรปฏิบัติการ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2021-07
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

การวิจัยและนวัตกรรมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม และการรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศ สามารถนำพาประเทศหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง กับดักความเหลื่อมล้ำและกับดักความไม่สมดุลของการพัฒนา รวมทั้งทำให้ประเทศสามารถปรับตัวรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก และสร้างความสามารถในการแข่งขันให้สอดคล้องกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) และเป้าหมายประเทศไทย 4.0 ที่มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศบนฐานความรู้และนวัตกรรม นอกจากนี้ การพัฒนานวัตกรรมถือเป็นหนึ่งปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ "ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่งยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" โดยการสร้างและสะสมองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ ให้มีความทันสมัยตลอดเวลา และพัฒนาจากประเทศที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจและสังคมบนฐานความรู้ด้านการวิจัยและนวัตกรรม

แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เป็นการกำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี และด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของประเทศเพิ่มสูงขึ้น และมีมูลค่าการลงทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งกำหนดตัวชี้วัดผลการดำเนินงานที่สำคัญ อาทิ การจัดอันดับโดยสถาบันการจัดการนานาชาติ และร้อยละของมูลค่าการลงทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของประเทศไทยสามารถตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ในประเทศ ยกระดับภาคการผลิตและบริการ แก้ไขปัญหาของสังคม พัฒนาการบริหารจัดการภาครัฐ รวมทั้งรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ ตลอดจนมุ่งเน้นการบูรณาการหน่วยงานด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การบริหารจัดการงานวิจัยและการสร้างองค์ความรู้พื้นฐานต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย 5 แผนย่อย ได้แก่

1) ด้านเศรษฐกิจ มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ศักยภาพของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและบริการที่สามารถใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้จริง

2) ด้านสังคม มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนสังคมไทย การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งด้านสุขภาพ การศึกษา และการเข้าถึงบริการและสวัสดิการของรัฐ การเตรียมความพร้อมของประชาชนไทยเพื่อรองรับกระแสโลกาภิวัตน์ของวัฒนธรรมโลกที่รวดเร็วขึ้นในยุคดิจิทัล

3) ด้านสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่เป็นเครื่องมือในการอนุรักษ์และฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ และความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรทางบก ทางน้ำและทางทะเล รวมทั้งการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม

4) ด้านองค์ความรู้พื้นฐาน มุ่งเน้นการวิจัยที่สร้างองค์ความรู้พื้นฐานเพื่อการสะสมองค์ความรู้ การต่อยอดไปสู่การประยุกต์ใช้องค์ความรู้ และการต่อยอดไปสู่นวัตกรรมทางเศรษฐกิจหรือนวัตกรรมทางสังคม รวมทั้งการสร้างนวัตกรรมเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถนำไปใช้ประโยชน์โดยตรง และ

5) ด้านปัจจัยสนับสนุนในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม มุ่งเน้นการพัฒนาปัจจัยสนับสนุน อาทิ โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ระบบบริหารจัดการงานวิจัยเพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม

ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนานวัตกรรมเป็นอย่างมาก ดังเห็นได้จากการกำหนดนโยบายการพัฒนาและการปฏิรูปประเทศที่เกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม นโยบายประเทศไทย 4.0 รวมทั้งนโยบายและแผนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555–2564) ทำให้สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการเสริมสร้างระบบนวัตกรรมแห่งชาติ ได้กำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานในช่วงปี 2562–2565 โดยมุ่งผลักดันประเทศไทยให้ไปสู่ "ประเทศแห่งนวัตกรรม (Innovation Nation)" กล่าวคือ เป็นประเทศที่พร้อมเติบโตและสามารถสร้างนวัตกรรมอันนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมได้ โดยแบ่งการดำเนินงานตามการวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงและประเด็นท้าทายในบริบทปัจจุบันออกเป็น 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

1) สร้างความเข้มแข็งระบบนวัตกรรม
2) ส่งเสริมและพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงทางนวัตกรรม
3) สร้างคุณค่าใหม่ทางนวัตกรรม และ
4) พัฒนาสู่องค์กรแห่งนวัตกรรม

ทั้งนี้ สนช. จะดำเนินการขับเคลื่อนในฐานะหน่วยประสานเชิงระบบ หรือ "โซ่ข้อกลาง" (System Integrator) เพื่อเป้าหมายสู่การสร้างระบบนวัตกรรมแห่งชาติที่แข็งแกร่ง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งต้องใช้เครื่องมือและกลไกสนับสนุน รวมทั้งพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตและเปลี่ยนแปลงทางนวัตกรรม โดยสร้างโอกาสในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรม และสร้างความเข้มแข็งให้ระบบนวัตกรรมผ่านการเชื่อมโยงภาคเอกชน ภาครัฐ ภาคการศึกษา และสังคม ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค นอกจากนี้ สนช. ยังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมไทยด้านต่าง ๆ อาทิ การขับเคลื่อนธุรกิจนวัตกรรม การขับเคลื่อนนวัตกรรมในระดับพื้นที่ การขับเคลื่อนนวัตกรรมในระบบอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.)

กล่าวโดย สรุปแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ถือเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญในการสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่เน้นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม อีกทั้งการที่ประเทศไทยมีหน่วยงานกลางในการเสริมสร้างระบบนวัตกรรมแห่งชาติ จะช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมของไทยให้สามารถดำเนินการตามแผนได้อย่างเป็นรูปธรรมและบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาประเทศเพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป

ภาพปก