ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน

Script Writer
สุภัทร คำมุงคุณ, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2021-06
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ความหมายของ “ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน” ตามระเบียบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าด้วยการส่งเสริมและการจัดสวัสดิการสำหรับปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน พ.ศ. 2551 หมายถึง “บุคคลที่คณะกรรมการส่งเสริมปราชญ์เกษตรของแผ่นดินประกาศแต่งตั้ง เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน” ซึ่งเป็นผู้ทรงภูมิปัญญาด้านการเกษตรในสาขาต่าง ๆ และเป็นบุคคลที่มีคุณความดี มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ โดยพิจารณาคัดเลือกจากหลักเกณฑ์ ประกอบด้วย (1) คุณลักษณะส่วนบุคคล (2) ผลงานที่สร้างคุณประโยชน์ และ (3) การขยายผลงาน ภายใต้กระบวนการพิจารณาสรรหาจากคณะทำงานสรรหาปราชญ์เกษตรของแผ่นดินระดับจังหวัดและกรุงเทพมหานคร คณะทำงานสรรหาปราชญ์เกษตรของแผ่นดินระดับเขต คณะอนุกรรมการสรรหาปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน และคณะกรรมการส่งเสริมปราชญ์เกษตรของแผ่นดินตามลำดับ เพื่อพิจารณาคัดเลือกให้เหลือปราชญ์เกษตรของแผ่นดินสาขาละ 1 คน

ปัจจุบันปราชญ์เกษตรของแผ่นดินแบ่งออกเป็น 4 สาขา ตามระเบียบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าด้วยการส่งเสริมและการสวัสดิการสำหรับปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2563 ดังนี้
(1) ปราชญ์เกษตรผู้ทรงภูมิปัญญาและมีคุณูปการต่อภาคการเกษตรไทย หมายถึง ผู้ที่มีคุณูปการสร้างสรรค์องค์ความรู้ ประสบการณ์ ผลงาน ภาคการเกษตร และที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร
(2) ปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง เกษตรกรผู้มีภูมิปัญญา สร้างสรรค์ และพัฒนาเป็นต้นแบบรูปธรรมการใช้เศรษฐกิจพอเพียงภาคการเกษตร 
(3) ปราชญ์เกษตรดีเด่น หมายถึง เกษตรกรผู้มีความเชี่ยวชาญ และสร้างสรรค์พัฒนาผลงานการเกษตร นวัตกรรมการเกษตร เทคโนโลยีการเกษตร และภูมิปัญญาผสมผสานเทคโนโลยีก้าวหน้าร่วมกันในด้านพืช สัตว์ ประมง การจัดการดินและน้ำ และเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตและรายได้ทางการเกษตรอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมดีเด่นอย่างยิ่ง
(4) ปราชญ์เกษตรผู้นำชุมชนและเครือข่าย หมายถึง ผู้นำชุมชุมและเครือข่ายที่มีผลงานสร้างสรรค์ พัฒนาสังคมการเกษตร ทั้งในระดับสังคมและเครือข่าย

ปราชญ์เกษตรของแผ่นดินในสาขาต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น ล้วนเป็นผู้ที่ได้นำภูมิปัญญา องค์ความรู้ ประสบการณ์ และผลงาน ไปเผยแพร่ สื่อสาร ขยายผล จนเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อภาคการเกษตรไทยและมีความโดดเด่นในระดับประเทศ เป็นที่ยอมรับของชุมชนและสังคม อีกทั้งยังเป็นผู้ที่มีชีวประวัติและวิถีชีวิตที่มีคุณธรรม มีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อสังคม

กว่าทศวรรษที่ผ่านมาปราชญ์เกษตรของแผ่นดินที่ได้รับการแต่งตั้งในสาขาต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรผู้ทรงภูมิปัญญาและมีคุณูปการต่อภาคการเกษตรไทย ปี 2552 นายวิบูลย์ เข็มเฉลิม ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ปี 2552 นายฉัตรกมล มุ่งพยาบาล ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น ปี 2564 และนายสิทธิพงษ์ อรุณรักษ์ ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรผู้นำชุมชนและเครือข่าย ปี 2564 เป็นต้น นับเป็นบุคคลต้นแบบสำคัญในการเป็นแบบอย่างที่ดีต่อการปฏิบัติงานและการประพฤติตน โดยมีความขยันหมั่นเพียร ศึกษา ค้นคว้า แสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังคิด วิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาและทดลองปฏิบัติ โดยนำความรู้ ภูมิปัญญา และทรัพยากรที่มีอยู่มาแก้ไขปัญหา ส่งผลทำให้การพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรประสบความสำเร็จ ตลอดจนได้เอื้อเฟื้อ อุทิศตน เพื่อถ่ายทอดความรู้ ภูมิปัญญา และประสบการณ์ให้กับคนในชุมชนและสังคมได้นำไปต่อยอดประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงการเป็นผู้นำชุมชนในด้านการเกษตร สนับสนุนให้สมาชิกในกลุ่มได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และมีการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ก่อให้เกิดการสร้างอาชีพและรายได้เพิ่มให้กับสมาชิก ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับชุมชนอื่น ๆ ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติม

ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ถือเป็นบุคคลที่ได้ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงเห็นสมควรยกย่องและเชิดชูเกียรติให้แก่ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน โดยเข้ารับพระราชทานโล่ หรือเหรียญเชิดชูเกียรติ หรือประกาศนียบัตร ในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ รวมถึงการได้รับรางวัล หรือสวัสดิการตามที่คณะกรรมการส่งเสริมปราชญ์เกษตรของแผ่นดินกำหนด เพื่อให้ปราชญ์เกษตรของแผ่นดินได้รับการดูแลด้านสวัสดิการและสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ และความสามารถสู่สังคมต่อไป

ภาพปก