การกำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อชุดตรวจหาแอนติเจน (Rapid Antigen Test)

Script Writer
นรากร นันทไตรภพ, วิทยากรปฏิบัติการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2021-09
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (COVID-19) มีการแพร่ระบาดในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ของประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขอนุญาตให้โรงพยาบาลและประชาชนสามารถใช้ชุดตรวจหาแอนติเจน (Rapid Antigen Test) ไปใช้ตรวจเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (COVID-19) ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งชุดตรวจหาแอนติเจนที่ใช้ตรวจโรคโควิด 19 สามารถคัดกรองผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว โดยหน่วยงานของรัฐได้นำมาแจกจ่ายให้กับประชาชน และสามารถหาซื้อได้จากร้านขายยาที่มีเภสัชกรอยู่ประจำร้านซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ เมื่อใช้ตรวจเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เสร็จแล้วก็จะเป็นขยะติดเชื้อ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ให้นิยาม "มูลฝอยติดเชื้อ" หมายความว่า มูลฝอยติดเชื้อตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ เช่น เข็มฉีดวัคซีน เข็มดูดยา ขวดวัคซีน กระบอกฉีดยา หน้ากากอนามัย สำลีเปื้อนเลือดหรือสารคัดหลั่ง พลาสเตอร์ปิดแผล รวมทั้งวัสดุ อุปกรณ์อื่นใดที่เปื้อนเลือดหรือสารคัดหลั่งจากสถานบริการฉีดวัคซีน อีกทั้ง มูลฝอยติดเชื้อ (Infectious waste) หมายถึง มูลฝอยที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ ในปริมาณหรือมีความเข้มข้นที่สามารถทำให้เกิดโรคได้ถ้ามีการสัมผัส หรือใกล้ชิดกับมูลฝอยนั้น และหมายความรวมถึงมูลฝอยดังต่อไปนี้ที่เกิดขึ้น หรือใช้ในกระบวนการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ การรักษาพยาบาล การให้ภูมิคุ้มกันโรค การทดลองเกี่ยวกับโรคและการตรวจชันสูตรศพหรือซากสัตว์ รวมทั้งในการศึกษาวิจัยเรื่องดังกล่าว ได้แก่

1. ซาก หรือชิ้นส่วนของมนุษย์หรือสัตว์ ที่เป็นผลมาจากการผ่าตัด การตรวจชันสูตร หรือซากสัตว์และการใช้สัตว์ทดลอง 
2. วัสดุของมีคม เช่น เข็ม ใบมีด กระบอกฉีดยา หลอดแก้ว ภาชนะที่ทำด้วยแก้วสไลด์และแผ่นกระจกปิดสไลด์ 
3. วัสดุซึ่งสัมผัสหรือสงสัยว่าจะสัมผัสกับเลือด ส่วนประกอบของเลือด ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเลือด สารน้ำจากร่างกายของมนุษย์หรือสัตว์ วัคซีนที่ทำจากเชื้อโรคที่มีชีวิต เช่น สำลีผ้าก๊อซ ผ้าต่าง ๆ ท่อยาง เป็นต้น 
4. มูลฝอยทุกชนิดที่มาจากห้องรักษาผู้ป่วยติดเชื้อร้ายแรง 

ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ ได้มีคำแนะนำประชาชนในการทิ้งชุดตรวจหาแอนติเจน ดังนี้ 
1. คัดแยกชุดตรวจหาแอนติเจนที่ใช้แล้วใส่ถุงพลาสติก ระบุข้อความว่าเป็นขยะติดเชื้อให้ชัดเจน 
2. ฉีดพ่นแอลกอฮอล์ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค หรือสารฟอกขาว เพื่อฆ่าเชื้อโรค และปิดถุงให้สนิท 
3. นำไปทิ้งโดยทิ้งแยกจากขยะทั่วไป เพื่อรอนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง หรือทิ้งในจุดรับทิ้งขยะติดเชื้อ เพื่อลดการปนเปื้อนกับขยะทั่วไป

ดังนั้น การที่กระทรวงสาธารณสุขอนุญาตให้โรงพยาบาลและประชาชนสามารถใช้ชุดตรวจหาแอนติเจนได้ด้วยตัวเอง จะต้องมีการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ในการกำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชน ในการคัดแยกและทิ้งชุดตรวจหาแอนติเจน ที่ใช้แล้วให้สามารถนำไปกำจัดได้ถูกต้อง และป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (COVID-19) เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน พนักงานเก็บขนขยะ และสิ่งแวดล้อมในบริเวณชุมชนให้มีความปลอดภัยจากการแพร่เชื้อไวรัสที่อาจปนเปื้อนมากับขยะมูลฝอยติดเชื้อ

ภาพปก