เนติบัณฑิตยสภากับการพัฒนาวิชาชีพนักกฎหมายไทย

Script Writer
คณาธิป ไกยชน, วิทยากรปฏิบัติการ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2020-12
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประกอบด้วยอำนาจอธิปไตย 3 ส่วน ได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ โดยการใช้อำนาจนิติบัญญัติผ่านทางรัฐสภา ซึ่งเป็นฝ่ายออกกฎหมาย ใช้อำนาจบริหารผ่านทางคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นฝ่ายนำกฎหมายไปใช้บังคับในการบริหารประเทศ และใช้อำนาจตุลาการผ่านทางศาล ซึ่งเป็นฝ่ายตัดสินปัญหาจากการใช้กฎหมาย เมื่อพิจารณาในภาพรวม “กฎหมาย” เป็นกลไกสำคัญในการปกครองดังกล่าว ซึ่งเรียกว่า “นิติรัฐ” ดังนั้น การมีองค์กรวิชาชีพที่มุ่งส่งเสริมความรู้ทางกฎหมายให้ได้มาตรฐานสากล และกำกับดูแลการประพฤติปฏิบัติของนักกฎหมายให้อยู่ในกรอบของจรรยาบรรณทางวิชาชีพย่อมเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อความเชื่อมั่นและการยอมรับจากสังคม และองค์กรหนึ่งที่สำคัญคือ “เนติบัณฑิตยสภา”

เนติบัณฑิตยสภาถือกำเนิดมาจากโรงเรียนกฎหมาย สืบเนื่องมาจากพระบรมราโชบายแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้นเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2434 โดยพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ (กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์) เป็นเสนาบดีพระองค์ที่ 3 พระองค์ได้สนองพระราชประสงค์ของพระราชบิดาโดยได้จัดตั้งโรงเรียนกฎหมายเมื่อ พ.ศ. 2440 และมีการสอบไล่เป็นเนติบัณฑิตรุ่นแรกในปีเดียวกัน ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริจัดตั้งเนติบัณฑิตยสภาเพื่อกำกับดูแลการศึกษาวิชากฎหมายและความประพฤติของทนายความ ด้วยการตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่างข้อบังคับตามแนวพระราชดำริแล้วทูลเกล้าฯ ถวายร่างข้อบังคับ เมื่อพระองค์ได้ทรงตรวจแก้ไขแล้ว ได้พระราชทานข้อบังคับคืนมาเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2457 และทรงรับเนติบัณฑิตยสภาไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ในวันเดียวกัน จึงถือวันดังกล่าวเป็นวันกำเนิดเนติบัณฑิตยสภา

เนติบัณฑิตยสภาถือเป็นองค์กรหลักในการส่งเสริมความรู้และกำกับดูแลการประกอบอาชีพของนักกฎหมายให้มีคุณภาพกอปรด้วยจริยธรรมและเกียรติศักดิ์ตามมาตรฐานสากล มุ่งเสริมสร้างความสมานฉันท์ในหมู่นักกฎหมายและความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนที่มีต่อวิชาชีพกฎหมายให้มั่นคงยิ่งขึ้น ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน รวมทั้งเป็นองค์กรทางวิชาชีพที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาวิชาชีพนักกฎหมายไทยในด้านต่าง ๆ ดังนี้

1. ด้านการควบคุมคุณภาพของการประกอบวิชาชีพ ข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 ได้กำหนดมาตรการรับสมาชิกเนติบัณฑิตยสภาทั้ง 5 ประเภท ได้แก่ สามัญสมาชิก สมาชิกวิสามัญ สมาชิกสมทบ ภาคีสมาชิก และสมาชิกกิตติมศักดิ์ จะต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติตามที่เนติบัณฑิตยสภากำหนด นอกจากนี้ ยังมีมาตรการกำกับดูแลสมาชิกให้อยู่ในมาตรฐานวิชาชีพทางกฎหมาย 

2. ด้านวินัยและจรรยามารยาท พระราชบัญญัติเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 มาตรา 4 (2) และ (3) ได้กำหนดให้เนติบัณฑิตยสภามีวัตถุประสงค์ควบคุมมารยาททนายความตามกฎหมายว่าด้วยทนายความ และส่งเสริมความสามัคคีและผดุงเกียรติของสมาชิก ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายมีจรรยาบรรณในวิชาชีพและสามารถใช้ความรู้ด้านกฎหมายผดุงความยุติธรรมในสังคมได้อย่างแท้จริง

3. ด้านการวางกรอบมาตรฐานวิชาชีพ เนติบัณฑิตยสภามีการจัดสอบวัดความรู้เพื่อใช้เป็นคุณสมบัติประการหนึ่งในการสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาและอัยการผู้ช่วย ซึ่งผู้ผ่านการสอบในระดับเนติบัณฑิตถือได้ว่าเป็นผู้ใช้กฎหมายในทางปฏิบัติได้เป็นอย่างดีพอควร รวมทั้งสภาทนายความซึ่งเป็นกรรมการประเภทหนึ่งของเนติบัณฑิตยสภาก็มีการสอบเพื่อรับอนุญาตว่าความหรือเป็นทนายความด้วย

4. ด้านการศึกษาอบรม เริ่มจากการเป็นโรงเรียนกฎหมายที่มุ่งให้มีการศึกษาอบรมกฎหมายโดยตรง และพระราชบัญญัติเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 มาตรา 4 (1) กำหนดให้เนติบัณฑิตยสภามีวัตถุประสงค์ส่งเสริมการศึกษานิติศาสตร์ และการประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย ประกอบด้วยข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 ข้อ 48 ให้มี “สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประสิทธิ์ประสาท และส่งเสริมการศึกษานิติศาสตร์ และความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพกฎหมาย

5. ด้านการรักษาผลประโยชน์ของวิชาชีพ ตามข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 ข้อ 28 คณะกรรมการ นอกจากนายกและอุปนายกซึ่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่งตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 ยังกำหนดให้มีกรรมการอื่นอีก 20 คน ซึ่งเลือกตั้งจากบุคคล 4 ประเภทที่เป็นสามัญสมาชิกมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี ประเภทละ 5 คน คือ (1) ข้าราชการตุลาการ (2) ข้าราชการอัยการ (3) ทนายความ และ (4) บุคคลอื่นนอกจาก (1) (2) (3) ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานและจรรยาบรรณของนักกฎหมาย ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคล และมีแนวทางในการรักษาผลประโยชน์และความเป็นธรรมของแต่ละวิชาชีพ

เนติบัณฑิตยสภาจึงเป็นองค์กรที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาวิชาชีพนักกฎหมายไทยหลายประการ กล่าวคือ เป็นรากฐานที่สำคัญสำหรับการพัฒนามาตรฐานและคุณภาพของนักกฎหมายไทย ซึ่งทำให้สังคมเชื่อมั่นและยอมรับวิชาชีพกฎหมาย นับว่าวิชาชีพนักกฎหมายมีความสำคัญและทำประโยชน์ให้สังคมได้อย่างกว้างขวาง ทัดเทียมกับวิชาชีพอื่น ๆ และประการสำคัญ เนติบัณฑิตยสภายังจัดให้มีสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาเพื่ออบรมและพัฒนาการศึกษาขั้นสูงต่อจากการศึกษาในสถาบันการศึกษากฎหมายทั่วไป รวมทั้งได้จัดอบรมศึกษากฎหมายในหลักสูตรต่าง ๆ ตามความต้องการของผู้เรียน และการเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายมีโอกาสได้ศึกษาและพัฒนาความรู้ได้อย่างต่อเนื่องและทันสมัย รวมทั้งมีคณะกรรมการด้านมาตรฐานและจรรยาบรรณซึ่งมาจากผู้แทนวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายได้รับการพัฒนาทั้งความรู้ควบคู่กับการมีมาตรฐานและจรรยาบรรณทางวิชาชีพอีกด้วย 

กล่าวโดยสรุป เนติบัณฑิตยสภาถือเป็นองค์กรวิชาชีพที่มีภารกิจในการกำกับดูแลการประพฤติปฏิบัติของนักกฎหมาย การเข้าสู่วิชาชีพที่เป็นหลักสำคัญของสังคม เป็นแหล่งพัฒนาความรู้ด้านกฎหมาย และเป็นองค์กรที่สร้างมาตรฐานกลางในการวัดความรู้ทางกฎหมายที่ทำให้มาตรฐานการศึกษากฎหมายในสถาบันอุดมศึกษาทั้งรัฐและเอกชนมาสู่มาตรฐานเดียวกันจากการสอบวัดความรู้ของเนติบัณฑิตยสภา ตลอดจนพัฒนาวิชาชีพนักกฎหมายไทยให้มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับของสังคมอย่างแท้จริง

ภาพปก