การขยายอายุเกษียณราชการ

Script Writer
ปรียวรรณ สุวรรณสูนย์, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2020-12
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ปัจจุบันโลกกำลังเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” (Ageing Society) อย่างเต็มตัว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงการสร้างของประชากรศาสตร์ (Demographic Changes) กล่าวคือ อัตราการเกิดของประชากรโลกลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการคุมกำเนิดและการวางแผนครอบครัว ประกอบกับความเจริญทางด้านการแพทย์ทำให้อายุเฉลี่ยของคนสูงขึ้น ดังนั้น องค์การต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องเตรียมการรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยหนึ่งมาตรการที่ภาครัฐในต่างประเทศอย่างสิงคโปร์และเกาหลีใต้เริ่มดำเนินการแล้ว คือ การขยายอายุที่จะเกษียณให้เพิ่มขึ้นโดยผ่านมาตรการทางกฎหมาย

สำหรับประเทศไทยนั้นถึงแม้ยังไม่มาตรการขยายกรอบอายุที่จะเกษียณอย่างชัดเจน แต่มีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคมตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือสำนักงาน ก.พ. เป็นหน่วยงานหลักทำหน้าที่ศึกษาเพิ่มเติมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการขยายอายุเกษียณราชการจาก 60 ปี เป็น 63 ปี โดยใช้เวลา 6 ปี คือ 2 ปี ขยาย 1 ปี ซึ่งไม่ครอบคลุมหน่วยงานที่ต้องใช้ศักยภาพทางร่างกาย ทั้งนี้ กำหนดเป้าหมายให้ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐเกษียณอายุราชการที่ 63 ปี ในปี พ.ศ. 2567 โดยสำนักงาน ก.พ. ได้อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อจัดทำรายละเอียดในส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1) การศึกษาเพื่อกำหนดอายุที่ควรเกษียณจากราชการ (Retire from service) 2) อายุที่ควรเกษียณจากงาน (Retire from job) 3) การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 4) การประมาณการค่าใช้จ่ายในการขยายอายุเกษียณ 5) การพัฒนาศักยภาพของข้าราชการ และ 6) การพัฒนาระบบบริหารทรัพยากรบุคคลเพื่อรองรับการขยายอายุเกษียณ 

ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งมีอายุครบ 60 ปี บางตำแหน่งสามารถรับราชการต่อไปได้อีกไม่เกิน 10 ปี ได้แก่ ตำแหน่งประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญขึ้นไป และประเภททั่วไประดับอาวุโสขึ้นไป โดยให้คณะอนุกรรมการสามัญประจำกระทรวง (อ.ก.พ. กระทรวง) เป็นผู้พิจารณาข้าราชการตามเหตุผลความจำเป็นใน 8 สายงาน คือ นักกฎหมายกฤษฎีกา แพทย์ ทันตแพทย์ นายสัตวแพทย์ ปฏิบัติงานช่างศิลปิน คีตศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และนาฏศิลป์

ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินงานของการขยายอายุเกษียณราชการควรสอดคล้องกับอายุขัยและศักยภาพในการทำงานที่เพิ่มขึ้นของบุคลากร และคำนึงถึงลักษณะงาน รวมทั้งต้องดำเนินมาตรการอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย อาทิ การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรเพื่อเตรียมความพร้อมในการทำงานหลังอายุ 60 ปี การพัฒนาระบบบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐให้พร้อมรองรับการทำงานร่วมกันของคนหลากหลายวัย ในเบื้องต้น ก.พ. ได้มีมติเห็นชอบแนวทางดังกล่าว และให้นำไปรับฟังความคิดเห็นและหารือร่วมกับองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการประเภทต่าง ๆ รวมทั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านที่เกี่ยวข้อง โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการขยายอายุเกษียณให้สอดคล้องกับลักษณะงาน แต่ยังคงมีประเด็นที่ต้องศึกษาในรายละเอียดประกอบการพิจารณา อาทิ 1) งบประมาณค่าใช้จ่ายในการขยายอายุเกษียณ (สำนักงาน ก.พ. ได้ร่วมกับกรมบัญชีกลางในการศึกษาเรื่องดังกล่าว) 2) การจำแนกตำแหน่งตามลักษณะงานของข้าราชการพลเรือนสามัญ และข้าราชการประเภทต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และ 3) การศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับหากมีการขยายอายุเกษียณ

อย่างไรก็ตาม โครงการขยายอายุเกษียณราชการจะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมหรือไม่ ระบบราชการไทยควรจะต้องมีมาตรการในการรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุของข้าราชการ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดความต่อเนื่องในการปฏิบัติราชการ รวมถึงการสูญเสียกำลังคนที่มีความรู้ความสามารถ ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญทั้งจากสายงานหลักและสายงานสนับสนุน 3 มาตรการ คือ 1) มาตรการบริหารกำลังคนเพื่อรองรับข้าราชการสูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งประกอบด้วยการใช้ประโยชน์จากข้าราชการสูงอายุและการรักษาข้าราชการที่จะเกษียณอายุราชการที่มีความรู้ความสามารถ ทักษะ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ ความสามารถเฉพาะตัวที่หาผู้อื่นมาปฏิบัติแทนได้ยากเพื่อให้รับราชการต่อไป 2) มาตรการเตรียมการเพื่อรองรับการสูญเสียกำลังคนเนื่องจากการเกษียณอายุราชการ ซึ่งประกอบด้วยการส่งเสริมให้ส่วนราชการพัฒนาระบบการวางแผนสร้างความต่อเนื่องในการบริหารงาน และเตรียมบุคลากรให้มีความพร้อมต่อการดำรงตำแหน่ง และ 3) มาตรการสร้างสมดุลของกำลังคนในระบบราชการ ซึ่งประกอบด้วยการใช้มาตรการเกษียณอายุก่อนกำหนด และการเพิ่มจำนวนข้าราชการบางระดับในสายงานหรือตำแหน่งที่ขาดแคลน นอกจากมาตรการดังกล่าวแล้วการจ้างผู้ที่มีความรู้ความสามารถภายหลังการเกษียณอายุราชการยังเป็นอีกวิธีหนึ่งของการลดการขาดแคลนบุคลากรในบางตำแหน่ง ทั้งนี้ ต้องมีการวิเคราะห์เหตุผลและความจำเป็นในการจ้างบุคลากรผู้ที่เกษียณอายุราชการ ว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถสมควรจ้างภายหลังเกษียณอายุราชการให้ปฏิบัติงานต่อหรือไม่ พร้อมทั้งการประเมินประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานและจัดให้มีการตรวจสุขภาพเป็นประจำด้วย 

โดยสรุปการขยายอายุเกษียณราชการเป็นแนวทางหนึ่งในการปฏิรูประบบราชการด้านกำลังคนของภาครัฐ ที่รัฐควรต้องมีการศึกษาการขยายอายุเกษียณราชการอย่างรอบด้าน ควรพิจารณาถึงผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น อาทิ ด้านเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข โครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค โดยต้องมีการร่วมระดมความเห็นเชิงบูรณาการจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อมูลเท็จจริงและสามารถนำไปประกอบการพิจารณากำหนดมาตรการขยายอายุเกษียณราชการได้ต่อไป 

ภาพปก