เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bangkok Goals on BCG Economy)

Script Writer
วิลาสิณี ฉายรัตน์ตระกูล, วิทยากรชำนาญการ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-02
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) คือ โมเดลเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่ประกอบด้วยเศรษฐกิจหลัก 3 ประเภท ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่มุ่งแก้ไขปัญหามลพิษเพื่อลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน 

ปี 2565 ไทยได้ริเริ่มและผลักดันร่างเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bangkok Goals on Bio-Circular-Green Economy) หรือ เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วย BCG Economy ในที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 (APEC 2022) ซึ่งได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ณ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ และที่ประชุม APEC ได้มีฉันทามติรับรองเป้าหมายกรุงเทพฯ โดยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่มุ่งเน้นการรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นตัวเร่งการปรับมุมมองและพฤติกรรมของภาคการผลิตในกลุ่มสมาชิก APEC 21 เขตเศรษฐกิจ ไปสู่โมเดลธุรกิจที่สามารถสร้างผลกำไรควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทุกภาคส่วนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 

ไทยในฐานะเจ้าภาพได้ร่วมกับสมาชิก 20 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ชิลี เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี เปรู รัสเซีย และเวียดนาม ขับเคลื่อนเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ภายใต้ 4 เป้าหมายสำคัญ ดังนี้

  1. จัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยการสร้างมาตรการที่มีความยืดหยุ่นและบรรเทาปัญหา ซึ่งเอเปคจะสร้างแผนงานและความร่วมมือที่สอดคล้องกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 (SDGs) และเป้าหมายปารีส (Paris Agreement) รวมทั้งส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและลดการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล 
  2. ส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน ครอบคลุม และสอดรับกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม โดยการเพิ่มเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทาน การดำเนินงานตาม APEC Connectivity Blueprint การพัฒนาความร่วมมือและการแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการเสริมสร้างบทบาทและความสามารถของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSMEs) เพื่อสร้างธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง
  3. ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การใช้และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน การยับยั้งและฟื้นฟูการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้ประโยชน์และการจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเลและระบบนิเวศที่ยั่งยืน รวมถึงการลดขยะและลดมลพิษจากพลาสติกในทะเล 
  4. บริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการของเสียอย่างยั่งยืนมุ่งสู่เป้าหมายไม่เหลือทิ้ง

นอกจากนี้ เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ยังได้กำหนดกลไกสำหรับการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วย 4 วิธีการ ต่อไปนี้ 

  1. มีกฎการดำเนินงานและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวยและฉับไวต่อสถานการณ์ ทั้งการปฏิรูปโครงสร้าง การปฏิบัติตามกฎอย่างดี และความร่วมมือทางกฎระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการปฏิรูปโครงสร้าง
  2. เสริมสร้างศักยภาพผ่านการขับเคลื่อนความร่วมมือในทางเศรษฐกิจ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด การถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยสมัครใจ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการส่งเสริมแรงงาน
  3. สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การจัดหาเงินทุน และการลงทุนอย่างมีคุณภาพ ตลอดจนการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล
  4. มีเครือข่ายสำหรับความร่วมมือร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการเงิน ภาควิชาการ ตลอดจนองค์การระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง

ภายหลังการประกาศเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ภาคเอกชนของไทยได้มีข้อเสนอต่อภาครัฐใน 2 ประเด็น คือ

1) ควรกำหนดมาตรการสนับสนุนสิทธิประโยชน์การลดหย่อนภาษีหรือสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนในเศรษฐกิจ BCG ในเขตพื้นที่ในและนอกโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ซึ่งจะเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาด (Green Energy) ได้เร็วขึ้น อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นการขายคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนเครดิต (Carbon Market) ของไทยให้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

2) ควรตั้งกองทุน BCG (BCG Fund) เพื่อสนับสนุนให้ภาคเอกชนปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจ BCG และให้สถาบันการเงินพิจารณาเสนอดอกเบี้ยพิเศษแก่ภาคเอกชนที่ดำเนินการตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG 

อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศผู้ริเริ่มเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ประกอบกับความจำเป็นที่ต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ให้ดำเนินไปอย่างเป็นรูปธรรมตามฉันทามติของที่ประชุม APEC ซึ่งสอดคล้องกับมิติด้านสิ่งแวดล้อมของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และความจำเป็นเร่งด่วนเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในปัจจุบัน ภาครัฐจึงควรให้ความสำคัญกับการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ กฎหมายอากาศสะอาดที่ภาคประชาชนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับอากาศสะอาดเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา แต่มีอันตกไปเนื่องจากเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ดังนั้น รัฐบาลชุดต่อไปจึงควรให้ความสำคัญกับการเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับอากาศสะอาดกลับมาพิจารณาทบทวนอีกครั้งหนึ่ง

ภาพปก