สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์: ศูนย์กลางระบบคมนาคมทางรางที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน

Script Writer
อาริยา สุขโต, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-03
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

“สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” นามพระราชทานของศูนย์กลางระบบรางของประเทศ หรือสถานีกลางบางซื่อ โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ก่อสร้างโครงการศูนย์กลางระบบราง ตามแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมของประเทศ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาโลจิสติกส์ของไทยให้มีความโดดเด่น เป็นศูนย์กลางคมนาคมในรูปแบบสถานีรถไฟที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน สามารถเชื่อมโยงทุกการเดินทางทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนามชื่อศูนย์กลางระบบราง เพื่อเป็นสิริมงคลแก่การรถไฟฯ และปวงชนชาวไทย “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” มีความหมายว่า ความเจริญรุ่งเรืองแห่งกรุงเทพมหานคร เป็นสถานีรถไฟหลักแห่งใหม่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ทดแทนสถานีรถไฟกรุงเทพหรือสถานีหัวลำโพง 

สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ มีชานชาลา 24 ชานชาลา รถไฟทางไกล มี 8 ชานชาลา ประกอบด้วย รถไฟชานเมือง 4 ชานชาลา รถไฟความเร็วสูง 10 ชานชาลา รถไฟเชื่อมต่อสนามบินแอร์พอร์ตลิงก์ 2 ชานชาลา และรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อ คือ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รถไฟฟ้าสายสีเขียว และรถไฟฟ้าสายสีม่วง เมื่อกล่าวถึงความทันสมัยของสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในพื้นที่สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ มีการพัฒนาและยกระดับให้เป็นศูนย์กลางระบบคมนาคมทางรางที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีความแตกต่างจากสถานีกรุงเทพหรือสถานีหัวลำโพงเดิม เนื่องจากถูกออกแบบให้เป็นสถานีระบบปิด มีระบบรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดเทียบเท่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งผู้โดยสารที่ไม่มีตั๋วโดยสารรถไฟจะไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นไปบนชั้นชานชาลาของสถานีซึ่งถือเป็นพื้นที่เขตหวงห้าม อีกทั้งการพัฒนาภายในสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์นับเป็นการนำร่องสถานีอัจฉริยะ (Smart Station) ด้วยเทคโนโลยี 5G ซึ่งประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างเต็มรูปแบบแห่งแรกในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์จะเป็นศูนย์กลางแห่งการเดินทาง ทั้งทางบก ทางราง เชื่อมโยงไปถึงทางน้ำและทางอากาศเข้าไว้ด้วยกัน

ด้านสิ่งอำนวยความสะดวก สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์สร้างภายใต้แนวคิดการออกแบบเพื่อมวลชน (Universal Design) เพื่อรองรับการใช้บริการที่สะดวก ปลอดภัย สำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เช่น ระบบชานชาลาสูง 110 เซนติเมตร ที่สะดวกต่อการขึ้น-ลงจากขบวนรถไฟ โดยพื้นชานชาลาจะอยู่ระดับเดียวกับพื้นรถ ความเพียงพอและทันสมัยของห้องสุขา ระบบปรับอากาศของชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสารและที่พักรอพื้นที่จอดรถยนต์และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ซึ่งสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้เป็นอย่างดี หากเจาะลึกถึงเทคโนโลยีอันทันสมัยที่นำมาให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวก อาทิ

(1) หุ่นยนต์ต้อนรับ SRT Bot นวัตกรรมหุ่นยนต์บริการที่สนทนาโต้ตอบได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ให้บริการข้อมูลการเดินทาง, การแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว, ให้บริการช่วยเหลือผู้เดินทาง, สำรวจ รักษาความปลอดภัยพื้นที่ และตรวจวัดอุณหภูมิด้วยระบบภาพ รวมทั้งบริการแจ้งเตือนและช่วยเหลือในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งจะส่งข้อมูลไปยังเจ้าหน้าที่โดยตรงแบบ Real-Time

(2) สมาร์ทวีลแชร์ (Smart Wheelchair) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้วีลแชร์ มีระบบเซ็นเซอร์วัดระยะเพื่อแจ้งเตือนการเข้าใกล้สิ่งของต่าง ๆ รวมถึงหยุดเมื่อเข้าถึงระยะที่ใกล้ โดยผู้ใช้ระบุจุดหมายของวีลแชร์ให้สามารถเคลื่อนที่อัตโนมัติไปยังพื้นที่เป้าหมายและสามารถกลับมาพื้นที่จุดรับบริการได้

(3) AI Security สามารถเชื่อมต่อกับระบบโทรทัศน์วงจรปิด CCTV ของอาคารสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ได้ไม่น้อยกว่า 121 ตัว พร้อมทั้งเรียกดูภาพจากเครื่องบันทึกหลายเครื่อง โดยแสดงผลบนจอภาพเดียวกัน ทั้งในรูปแบบภาพปัจจุบันและภาพย้อนหลังได้ การตรวจจับคนเดินล้ำเส้นเหลือง รวมทั้งวิเคราะห์ผู้โดยสารที่มีความเสี่ยงจะเกิดอุบัติเหตุกรณีคนเป็นลมหรือลมชัก จะส่งสัญญาณไปยังเจ้าหน้าที่แบบ Real-Time

(4) MEC (Multi-Access Edge Computing) ซึ่งเป็นระบบที่เป็นหัวใจสำคัญของการทำโซลูชันและรองรับการต่อยอด Use Case 5G ในอนาคต เพื่อให้เกิดการเข้าถึงที่รวดเร็วและมีความหน่วงในการทำงานต่ำ (Low latency) ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงระบบและข้อมูลที่เก็บอยู่ที่ดาต้าเซ็นเตอร์ในสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ได้โดยตรง โดยไม่ต้องมีการส่งข้อมูลกลับสู่เครือข่ายเน็ตเวิร์คหลัก จึงมีความปลอดภัยสูงในการใช้งาน เนื่องจากข้อมูลจะมีการรับ-ส่งอยู่ภายในระบบของสถานี

นับเป็นการเชื่อมต่อการเดินทางและการขนส่งมวลชนทุกรูปแบบ ที่ประชาชนสามารถเชื่อมการเดินทางไปยังทุกจุดหมาย พร้อมเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้เส้นทางรถไฟเป็นแกนหลักของแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยบูรณาการร่วมกันกับระบบรถไฟทางไกลที่สามารถเชื่อมโยงการเดินทางไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ อีกทั้งสามารถเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอีกหลายโครงข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตในการเดินทางของประชาชน อันเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่สำคัญของระบบขนส่งคมนาคมของประเทศ

ภาพปก