Parliamentary Museum

ประวัติพิพิธภัณฑ์รัฐสภา

 


พิพิธภัณฑ์รัฐสภาได้จัดตั้งขึ้นและเริ่มดำเนินการจัดแสดงครั้งแรกในปี พ.ศ. 2517 เป็นหน่วยงานหนึ่งในศูนย์บริการเอกสารและค้นคว้า สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา โดยให้มีหน้าที่รวบรวมและเก็บรักษาเอกสารและวัสดุต่าง ๆ ที่เป็นประวัติศาสตร์ทางการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา จัดเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อประโยชน์ในการศึกษาถึงวิวัฒนาการการเมืองการปกครองของไทย ในเริ่มแรกพิพิธภัณฑ์รัฐสภามีสถานที่ทำการอยู่บริเวณเดียวกันกับห้องสมุดรัฐสภา ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชั้นล่างของตึกเอ (ปัจจุบันคืออาคารรัฐสภา 1)
 

 

พ.ศ. 2519 ได้มีโครงการปรับปรุงห้องโถงชั้นล่างของพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นพิพิธภัณฑ์รัฐสภา ซึ่งได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้สถานที่แล้ว แต่ยังมิได้ดำเนินการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ขึ้น เนื่องจากในช่วงนั้นต้องมีการซ่อมแซมปรับปรุงพระที่นั่งอนันตสมาคมซึ่งเกิดความชำรุด ทำให้การจัดแสดงระงับไว้ชั่วคราวก่อน ในปี พ.ศ. 2521 พิพิธภัณฑ์รัฐสภาได้รับอนุญาตให้ย้ายจาก ชั้นล่างตึกเอ มาเปิดทำการและจัดแสดงอยู่ที่ชั้น 5 ตึกบี (ปัจจุบันคืออาคารรัฐสภา 3) จนกว่าจะมีการ ซ่อมแซมปรับปรุงพระที่นั่งอนันตสมาคมเสร็จเรียบร้อย
 

พ.ศ. 2523 ได้มีการเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ อาคารรัฐสภา 1 พร้อมทั้งให้เปิดห้องใต้ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ให้มาจัดแสดง ใช้ชื่อว่า พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยได้เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา และมอบหมายให้หน่วยงานพิพิธภัณฑ์รัฐสภา รับผิดชอบในการบริหารจัดการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

พ.ศ. 2527 นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานรัฐสภาในขณะนั้น ได้มีดำริให้สำนักงานเลขาธิการรัฐสภาดำเนินการปรับปรุงพระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อใช้เป็นห้องรับรองแขกระดับสูงของรัฐสภา พร้อมมีดำริให้ดำเนินการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์รัฐสภา ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมอีกครั้ง โดยมีการจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครองและสิ่งของที่ระลึก ที่รัฐสภาได้รับมอบจากต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา

การดำเนินการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์รัฐสภา ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ได้ดำเนินการเพียงระยะเวลาหนึ่ง จึงได้ย้ายมาจัดแสดงรวมอยู่ในสถานที่เดียวกันกับการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อรองรับคณะผู้เข้าเยี่ยมชมรัฐสภา ได้แก่ คณะนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไปได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ทั้งสองแห่งในสถานที่เดียวกัน

ในปี พ.ศ. 2541 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสถาบันพระปกเกล้า พ.ศ. 2541 พร้อมมีการจัดตั้งสถาบันพระปกเกล้าขึ้น มีผลทำให้การจัดแสดงในส่วนของพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโอนไปอยู่ในความรับผิดชอบของสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งในระยะเวลาต่อมาจึงได้มีการส่งมอบสิ่งของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ที่ได้จัดแสดงอยู่ ให้แก่สถาบันพระปกเกล้า เพื่อนำไปจัดแสดงใหม่ ณ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (อาคารกรมโยธาธิการเดิม) ถนนหลานหลวง เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ทำให้ห้องจัดแสดงใต้ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ว่างลง จึงได้ดำเนินการปรับพื้นที่ใหม่ ทำเป็นห้องจัดแสดงพิพิธภัณฑ์รัฐสภาเป็นการถาวรตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์รัฐสภาอยู่ในความรับผิดชอบของกลุ่มงานพิพิธภัณฑ์และจดหมายเหตุ สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร


การจัดแสดง

พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชสมภพ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพเมื่อวันพุธที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 เป็น พระราชโอรสพระองค์สุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ทรงเป็นเจ้าฟ้าพระอนุชาองค์สุดท้ายที่ร่วมพระบรมราชชนนีเดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีพระเชษฐาตามลำดับ ดังนี้

  1. สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)
  2. สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
  3. สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา
  4. สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย
  5. สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7)

เมื่อมีพระชนมายุได้ 12 พรรษา ทรงได้รับพระราชทานพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระนามว่า “ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา
 

    

    

    
ทรงศึกษาและรับราชการทหาร

ในปีพุทธศักราช 2447 ได้เสด็จไปศึกษาวิชาสามัญที่วิทยาลัยอีตัน (Eton College) ประเทศอังกฤษ และทรงเข้าศึกษาต่อด้านวิชาการทหาร ณ โรงเรียนนายร้อยทหารบกที่เมืองวูวิช (Woolwich) ในปี พ.ศ. 2456

เมื่อเสด็จกลับเมืองไทยทรงเข้ารับราชการในกองทัพบก ณ กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ โดยได้รับพระราชทานเลื่อนยศนายทหารสูงขึ้นตามลำดับ ต่อมาได้เสด็จเข้าศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหาร Ecole de Guerre ประเทศฝรั่งเศส โดยทรงสำเร็จการศึกษาในปีพุทธศักราช 2467
 

ทรงผนวช

ในปีพุทธศักราช 2460 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงลาราชการเพื่อทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วเสด็จประทับจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวรวิหาร

ขณะที่พระองค์ทรงผนวชอยู่นั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเห็นว่าพระองค์เป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์สุดท้ายน่าจะมิได้ทรงดำรงตำแหน่งทางราชการที่สำคัญ ๆ เทียบเท่ากับสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอทั้งหลายเป็นแน่ แต่ถ้าหากทรงดำรงอยู่ในสมณเพศตลอดไปแล้ว ย่อมจะทรงมีโอกาสเป็นใหญ่ในบรรดาพระสงฆ์อย่างแน่นอน จึงทรงแนะนำว่าควรจะทรงผนวชอยู่ตลอดไป อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิเสธพระประสงค์นี้ โดยทูลตอบตามตรงว่าพระองค์ทรงมีความรักเสียแล้ว ประกอบกับเหตุผลอีกประการหนึ่ง คือ ข้อจำกัดทางด้านพระพลานามัยของพระองค์ที่ประชวรอยู่บ่อยครั้ง

อภิเษกสมรส

เมื่อทรงลาผนวชแล้วในปีพุทธศักราช 2461 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้อภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี (พระธิดาในเสด็จในกรมสมเด็จฯ พระสวัสดิวัดนวิสิษฐ์ และหม่อมเจ้าหญิงอาภาพรรณี) เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2461 ณ พระที่นั่งวโรภาสพิมาน พระราชวังบางประอิน

เสด็จขึ้นครองราชย์

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เนื่องจากพระองค์ยังมิทรงมีพระมเหสีและพระราชโอรส ดังนั้นจึงทรงออกพระราชกฤษฎีกาประกาศตั้งองค์รัชทายาท เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2453 โปรดเกล้าฯ ระบุให้ตำแหน่งรัชทายาทสืบทอดต่อกันในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอร่วมพระราชชนนีตามลำดับพระชนมายุ โดยเริ่มจากสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ จนกว่าพระองค์จะทรงมีพระราชโอรส แต่ในช่วงระยะตั้งแต่ปี พ.ศ. 2463 - 2468 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จทิวงคตและสิ้นพระชนม์ไปตามลำดับคือ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสด็จทิวงคตปี พ.ศ. 2463 สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย สิ้นพระชนม์ปี พ.ศ. 2466 และสมเด็จฯ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา สิ้นพระชนม์ปี พ.ศ. 2467 เหลือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น จึงนับได้ว่าทรงเป็นองค์รัชทายาทโดยอนุโลมและจากความตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราขึ้นต่อมาในปี พ.ศ. 2467 ก็มิได้มีข้อความประการใดที่จะเพิกถอนสิทธิในตำแหน่งองค์รัชทายาทที่ทรงดำรงอยู่

    
ดังนั้น นอกเหนือจากหน้าที่ราชการในทางทหารแล้ว พระองค์จึงยังต้องทรงศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณีการปกครองบ้านเมืองและราชการแผ่นดินตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นการเตรียมพระองค์ทางการปกครองในฐานะที่ทรงดำรงตำแหน่งองค์รัชทายาท และไม่เพียงแต่ทรงศึกษาราชการแผ่นดินเท่านั้น บางครั้งในทางปฏิบัติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็โปรดเกล้าฯ ให้พระองค์ทรงปฏิบัติราชการแทนพระองค์ในช่วงที่เสด็จพระราชดำเนินประทับอยู่นอกพระนคร ในการนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำหน้าที่ในการสั่งหนังสือราชการแทนพระองค์และประทับเป็นประธานในที่ประชุมเสนาบดีสภาด้วย ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่แทนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ต่อมาจึงได้เลื่อนพระเกียรติขึ้นเป็น “ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา ” และหลังจากได้ทรงรับสถาปนาเป็นกรมหลวงไม่ทันถึงเดือน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 พระองค์จึงได้รับอัญเชิญขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินในวันเดียวกันนั้นเอง และทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 การเริ่มปีพุทธศักราชใหม่ของไทยในสมัยนั้น คือเดือนเมษายน) ทรงมีพระปรมาภิไธยใหม่ว่า “ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ” ซึ่งขณะนั้นทรงมีพระชนมพรรษาเพียง 33 พรรษา พร้อมกับทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี พระวรชายา ขึ้นเป็น “ สมเด็จพระนาง เจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ” ด้วย

ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานอย่างแรงกล้าที่จะเห็นประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในรัชกาลของพระองค์ ได้มีพระราชอุตสาหะให้มีการพัฒนาการเมืองอย่างมีขั้นตอนและสร้างสถาบันทางการเมืองขึ้น ในขณะที่สถาบันที่ทรงสร้างกำลังดำเนินการไปตามแนวทางนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เตรียมการร่างรัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายสูงสุดตามแนวทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยไปพร้อมกัน แรกทีเดียวมีพระราชดำริว่าจะพระราชทานในวาระที่มีงานพระราชพิธีฉลองกรุงเทพมหานครครบรอบ 150 ปี ในปี พุทธศักราช 2475 แต่พระราชดำรินี้ต้องระงับไป เนื่องจากคณะอภิรัฐมนตรีสภายังไม่เห็นด้วยกับการพระราชทาน รัฐธรรมนูญ แต่ต่อจากนั้นอีก 2 เดือน ได้มีคณะบุคคลซึ่งเรียกตนเองว่า “ คณะราษฎร ” ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 และได้กราบบังคมทูลขอให้พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ภายหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรขึ้น และเมื่อผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และได้มีพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

แม้ว่าพระองค์จะมีพระราชประสงค์ และจุดมุ่งหมายให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย คือการให้อำนาจปกครองตนเองแก่ประชาชนมากขึ้น แต่ทว่าพระองค์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยกับหลักการและการกระทำของคณะราษฎรหลายประการ ประกอบกับพระสุขภาพพลานามัยเกี่ยวกับสายพระเนตร จึงตัดสินพระทัยเสด็จพระราชดำเนินไปยังประเทศอังกฤษเพื่อทรงเข้ารับการผ่าตัดพระเนตร โดยเสด็จพระราชดำเนินพร้อมกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ออกจากพระนคร เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2476

ทรงสละราชสมบัติ

จากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เป็นสาเหตุให้พระองค์ทรงตัดสินพระราชหฤทัยสละราชสมบัติขณะประทับอยู่ ณ บ้านโนล แครนลี ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 และทรงประทับพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ณ ประเทศอังกฤษนั้นเอง โดยมิได้เสด็จนิวัติประเทศไทยอีกเลย จนกระทั่งเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ด้วยโรคพระหทัยวาย ขณะมีพระชนมายุ 48 พรรษา
 

  

ในปีพุทธศักราช 2492 คณะรัฐมนตรี ซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้อัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีนาถ เสด็จกลับสู่ประเทศไทย และได้อัญเชิญพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐานยังหอพระบรมอัฐิ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เสมอด้วยพระบรมอัฐิสมเด็จพระบูรพมหากษัตราธิราชเจ้าในพระบรมราชจักรีวงศ์ สมพระเกียรติยศในฐานะพระมหากษัตริย์ทุกประการ
 

  

   

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ คณะรัฐมนตรี ได้กำหนดให้วันที่ 30 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของทุกปี เป็นวันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2545


การเปลี่ยนแปลงการปกครอง

วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เวลาย่ำรุ่ง ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 มีคณะบุคคลที่เรียกว่า " คณะราษฎร " ประกอบด้วยทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน โดยสายทหารบกมีนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นหัวหน้า สายทหารเรือ มีนายนาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) เป็นหัวหน้า และสายพลเรือนมีอำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐมนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นหัวหน้า ได้ร่วมกันทำการยึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ และพระมหากษัตริย์ อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

คณะราษฎรประกาศแถลงการณ์ฉบับแรก

ในวันนั้นเป็นวันที่คณะราษฎรได้วางแผนและนัดหมายกันไว้ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม ประกอบไปด้วยกำลังทหารบก ทหารเรือ และหน่วยรถถังพร้อมอาวุธ เมื่อถึงเวลานัดหมายเวลา 6 นาฬิกาตรง นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ได้อ่านแถลงการณ์ประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรฉบับแรกต่อหน้าแถวทหาร ความในประกาศตอนหนึ่ง คือหลัก 6 ประการ ที่คณะราษฎรได้วางไว้เป็นหลักและยึดเป็นนโยบายบริหารประเทศต่อมา มีดังนี้

  1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในการเมือง ในทางศาล
  2. ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
  3. จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
  4. จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
  5. จะต้องให้ราษฎรได้สิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎร เช่นที่เป็นอยู่)
  6. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น
  7. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย คณะราษฎรโดยคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ได้มีการแต่งตั้งผู้แทนราษฎรชั่วคราวขึ้น จำนวน 70 คน นับว่าประเทศไทยมีผู้แทนราษฎรเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก และได้เริ่มมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ณ ห้องโถงชั้นบนของพระที่นั่งอนันตสมาคม
 

เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก

การประชุมในวันนั้น เริ่มเวลา 14. 00 นาฬิกา โดยใช้ห้องโถงชั้นบนของพระที่นั่ง อนันตสมาคมเป็นที่ประชุม มีการจัดโต๊ะเก้าอี้เป็นรูปครึ่งวงกลม ตั้งอยู่ในระดับเดียวกันเป็นการชั่วคราว

การประชุมในวันนั้น ยังไม่มีข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร จึงได้นำเอา ข้อบังคับการประชุมของสภากรรมการองคมนตรีเฉพาะที่ไม่ขัดกับพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 มาใช้ไปพลางก่อน

ผู้แทนราษฎรปฏิญาณตน

ผู้แทนราษฎรที่ได้รับแต่งตั้งชุดแรก จำนวน 70 คน ได้กล่าวคำปฏิญาณตนต่อที่ประชุม มีความว่า

“ ข้าพเจ้า (ออกนามผู้ปฏิญาณตน) ขอให้คำปฏิญาณว่าจะซื่อสัตย์ต่อคณะราษฎร และจะช่วยรักษาหลัก 6 ประการของคณะราษฎรไว้ให้มั่นคง

  1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาลในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
  2. จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
  3. จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะพยายามหางานให้ราษฎรทำโดยเต็มความสามารถ จะร่างโครงการณ์เศรษฐกิจแห่งชาติไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
  4. จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน
  5. จะต้องให้ราษฎรมีเสรีภาพ มีความเป็นอิสสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น
  6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร ”

รัฐธรรมนูญฉบับสมุดไทย

ความเป็นมาและแนวคิดในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับสมุดไทย

ภายหลังคณะราษฎรได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นผลให้ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม โดยทรงเติมคำว่า “ ชั่วคราว ” ไว้ต่อท้าย ทั้งนี้ ได้มีพระราชกระแสรับสั่งแก่คณะราษฎรว่าให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนั้นไปชั่วคราวก่อน แล้วจึงเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะอนุกรรมการร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นฉบับถาวรขึ้นใช้ต่อไป

ต่อมาวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมได้มีมติตั้งคณะอนุกรรมการร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับใหม่ จำนวน 7 คน ประกอบด้วย

  1. พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
  2. พระยาเทพวิทุร
  3. พระยามานวราชเสวี
  4. พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์
  5. พระยาปรีดานฤเบศร์
  6. หลวงประดิษฐมนูธรรม
  7. หลวงสินาดโยธารักษ์

ต่อมาภายหลังได้มีการตั้งเพิ่มเติมอีก 2 คน คือ

  1. พระยาศรีวิสารวาจา
  2. พระยาราชวังสัน

ในระหว่างที่คณะอนุกรรมการฯ กำลังร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินอยู่นั้น ได้มีการเชิญชวนให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินด้วย ในการนี้หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรวรวรรณ ได้ทรงแสดงความคิดเห็นผ่านหนังสือพิมพ์ ให้เปลี่ยนชื่อเรียกพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินใหม่ โดยให้ใช้คำว่า “ รัฐธรรมนูญ ” แทน และคณะอนุกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว

ต่อมาเมื่อคณะอนุกรรมการฯ ได้ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว จึงได้เสนอสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้ขอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรนำร่างรัฐธรรมนูญกลับไปพิจารณาภายในเวลา 10 วัน โดยจะมาประชุมกันอีกครั้ง เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 ถ้าสมาชิกคนใดมีข้อที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงประการใดให้เสนอเป็นญัตติมายังประธานสภาผู้แทนราษฎร 3 วัน ก่อนถึงวันประชุม แต่ได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคนท้วงติงว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสำคัญยิ่ง การให้เวลาเพียง 10 วันนั้น เป็นระยะเวลาที่สั้นไป ควรผ่อนเวลาไปอีกสัก 1 สัปดาห์ เพื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะได้ตรึกตรองให้ดีเสียก่อนแล้วจึงมาประชุมกัน แต่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้กล่าวตอบว่า

ได้นำร่างรัฐธรรมนูญนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายทอดพระเนตร์ ทรงมีรับสั่งว่าเป็นที่พอพระราชหฤทัย และได้ทรงแนะนำว่าการประกาศรัฐธรรมนูญนั้นเป็นของสำคัญยิ่งใหญ่ ควรจะมีพิธีรีตอง จึ่งโปรดเกล้าฯ ให้โหรหลวงหาฤกษ์ยาม ได้ 3 ฤกษ์ ฤกษ์ 1 ตกวันที่ 1 ธันวาคม ฤกษ์ 2 ตกวันที่ 10 ธันวาคม ฤกษ์ 3 ตกไปกลางเดือนมกราคม จึ่งได้คิดว่าสำหรับฤกษ์ 1 นั้น เวลากระชั้นเกินไปคงไม่ทัน จึงได้กำหนดไว้เป็นวันที่ 10 ธันวาคม คือฤกษ์ 2 ส่วนฤกษ์ 3 นั้น เวลานานไป ฉะนั้นจึ่งอยากรีบเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพื่อให้ทันในวันที่ 10 ธันวาคม โดยหวังว่า จะแล้วเสร็จจากสภาภายในวันที่ 30 เดือนนี้ โดยเราจะประชุมกัน ตั้งแต่ 4 โมงเช้าเรื่อย ๆ ไปทุกวันจนกว่าจะเสร็จ เพื่อให้แล้วก่อนฤกษ์ 10 วัน โดยทรงเห็นว่ารัฐธรรมนูญนั้นเป็นของศักดิ์สิทธิ์และเป็นของที่ควรจะขลัง เพราะฉะนั้นต้องการจะเขียนใส่สมุดไทย ซึ่งจะกินเวลาหลายวัน ฉะนั้น จึ่งใคร่รีบประชุมเสียให้เสร็จก่อนกำหนดดังกล่าวแล้ว

ต่อมาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้เริ่มพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญภายหลังจากที่ได้ให้เวลาสมาชิกพิจารณาเป็นเวลา 10 วันแล้ว โดยที่ประชุมได้มีมติให้พิจารณาทีละมาตรา แล้วลงมติในแต่ละมาตรา รวม 68 มาตรา โดยสภาผู้แทนราษฎรใช้เวลาพิจารณาตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน จนถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน รวมทั้งสิ้น 5 วัน ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม

ต่อจากนั้น จึงได้นำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามที่ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว นำไปเขียนลงในสมุดไทย รวม 3 ฉบับ และเมื่อได้ดำเนินการเสร็จแล้ว จึงได้นำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามฉบับสมุดไทยขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2547

นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ถ้าหากมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น และต้องผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติ และได้รับความเห็นชอบจากสภาแล้ว จะต้องนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้น ๆ มาเขียนลงในสมุดไทยก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ ซึ่งยึดถือปฏิบัติเป็นธรรมเนียมประเพณีที่สืบต่อมาจนกระทั่งปัจจุบัน

รัฐธรรมนูญที่มีการจารึกลงในสมุดไทย

นับแต่ประเทศไทยได้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่ปี 2475 จนถึงปัจจุบัน ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดมาแล้วทั้งสิ้น 18 ฉบับ แต่รัฐธรรมนูญที่มีการจารึกหรือเขียนลงในสมุดไทยนั้น จะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านการร่างโดยกระบวนการนิติบัญญัติหรือผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้วเท่านั้น ซึ่งมีจำนวน 10 ฉบับ คือ

  1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475
  2. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489
  3. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492
  4. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 (แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495)
  5. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511
  6. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517
  7. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521
  8. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534
  9. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
  10. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550

ส่วนฉบับที่ประกาศใช้เป็นการชั่วคราว อันเนื่องมาจากการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินนั้นจะไม่มีการจารึกหรือเขียนลงในสมุดไทย ซึ่งมีจำนวน 8 ฉบับ คือ

  1. พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475
  2. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490
  3. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502
  4. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515
  5. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519
  6. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520
  7. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534
  8. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549

สิ่งของจัดแสดง

หมุดเปลี่ยนแปลงการปกครอง (จำลอง)
 

ในสมัยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการหล่อหมุดทองเหลืองเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และได้กระทำพิธีฝังหมุด เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 บริเวณลานพระราชวังดุสิต ณ เบื้องซ้ายของพระบรมรูปทรงม้า รัชกาลที่ 5 ซึ่งจุดที่ฝังหมุดนั้น เป็นจุดที่นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ได้ยืนอ่านแถลงการณ์ประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งถือว่าเป็นจุดกำเนิดของการปกครองระบอบประชาธิปไตย

หมุดนี้มีข้อความจารึกไว้ว่า

“ ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ ”

เครื่องใช้สำนักงาน

​  

หลังจากประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย มีรัฐสภาเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 จึงได้มีการตั้งผู้แทนราษฎรชั่วคราวขึ้นจำนวน 70 คน และได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรกในวันเดียวกัน ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม

ในการประชุมสภา และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่จึงได้เริ่มขึ้นนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ในการดำเนินงานดังกล่าวได้หลงเหลือเครื่องใช้สำนักงานบางชิ้นไว้ให้คนรุ่นหลังได้ชม และสะท้อนให้ทราบถึงประวัติการดำเนินงานในบางช่วงเวลาของการประชุมสภาและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในอดีตอีกด้วย

การจดชวเลขในการประชุมสภา

  

ภายหลังจากที่ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกขึ้น เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในการประชุมนั้นได้ใช้เจ้าหน้าที่จดชวเลขมาจดถ้อยคำในการประชุมสภา เพื่อนำมาทำรายงานการประชุมนับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

หีบบัตรและบัตรเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา

  

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ได้บัญญัติให้รัฐสภาเป็นแบบสองสภา ประกอบด้วย พฤฒสภาและสภาผู้แทน

พฤฒสภา ประกอบด้วยสมาชิกที่ราษฎรเลือกตั้ง มีจำนวน 80 คน ในวาระเริ่มแรก ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่อยู่ในตำแหน่งในขณะนั้น เป็นผู้เลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกพฤฒสภา เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2489

ในการเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภาครั้งนั้น สมาชิกที่เป็นผู้เลือกจะทำเครื่องหมาย เพื่อเลือกผู้สมัครสมาชิกพฤฒสภาลงในบัตรเลือกตั้ง เมื่อทำการเลือกเรียบร้อยแล้ว จะนำบัตรเลือกตั้งใส่ซองที่แจกให้ และนำมาหย่อนใส่หีบบัตรเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง

การออกเสียงลงคะแนน

การออกเสียงลงคะแนน เป็นวิธีการลงมติของสมาชิกในที่ประชุม โดยใช้วิธีการออกเสียงลงคะแนนโดยเปิดเผยหรือลับตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุม เช่น

  • การยกมือขึ้น (พ้นศีรษะ) ยืนขึ้น เรียกชื่อสมาชิกเรียงลำดับอักษรให้ลงคะแนนเป็นรายบุคคล
  • การใช้บัตรสีลงคะแนนโดยผู้เห็นด้วยให้ใช้บัตรสีน้ำเงิน ผู้ไม่เห็นด้วยให้ใช้บัตรสีแดง ส่วนผู้ไม่ออกเสียงให้ใช้บัตรสีขาว
  • การลงเบี้ยสีโดยผู้เห็นด้วยให้ลงเบี้ยสีน้ำเงิน ผู้ไม่เห็นด้วยให้ลงเบี้ยสีแดง ส่วนผู้ไม่ออกเสียงให้ลงเบี้ยสีขาว
  • การเขียนเครื่องหมายลงบนแผ่นกระดาษ ผู้เห็นด้วยให้เขียนเครื่องหมายถูก (/ ) ผู้ไม่เห็นด้วยให้เขียนเครื่องหมายผิดหรือกากบาท (x) ส่วนผู้ที่ไม่ออกเสียงให้เขียนเครื่องหมายวงกลมหรือสูญ (0)
  • การใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนน

เอกสารสละราชสมบัติ

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 รัฐบาลหรือฝ่ายบริหารได้ การดำเนินงานและนโยบายการบริหารประเทศบางประการเป็นที่ขัดเคือง และไม่สอดคล้องกับแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จนนำไปสู่การตัดสินพระราชหฤทัยสละราชสมบัติของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 ขณะประทับพร้อมสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ที่ Knowle House เมือง Cranleigh มณฑล Surrey ประเทศอังกฤษ

ข้อความตอนหนึ่งในลายพระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรง ตระหนักและเข้าพระทัยในคุณค่าและจิตวิญญาณของประชาธิปไตยอย่างแท้จริงว่า

… ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดย สิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร …


ดาวน์โหลด


สถานที่ตั้งและการให้บริการ

ห้องจัดแสดงพิพิธภัณฑ์รัฐสภา 
อาคารรัฐสภา ถนนอู่ทองใน เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300
โทรศัพท์ 02 2442055-6, 02 2441059 
โทรสาร 02 2442061 

เปิดให้บุคคลผู้สนใจทั่วไปเข้าชมในเวลาราชการ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) 
ระหว่างเวลา 09.00-16.00 นาฬิกา

English