โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

Script Writer
ณัฐพงศ์ พันธุ์ไชย, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2021-06
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานครและเป็นการเพิ่มทางเลือกในการเดินทางแก่ประชาชน ปัจจุบันประกอบด้วยเส้นทางสำคัญ 3 ส่วน คือ 

1. ส่วนหลัก ประกอบด้วย สายสุขุมวิท (สถานีหมอชิต-สถานีอ่อนนุช) และสายสีลม (สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ-สถานีสะพานตากสิน) โดยบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีทีเอสซี) เป็นผู้ลงทุนทั้งหมดรวมถึงการบริหารจัดการเดินรถและได้รับสิทธิในการเก็บค่าโดยสารตลอดอายุสัญญาสัมปทานเป็นเวลา 30 ปี โดยจะครบกำหนดสัญญาสัมปทาน พ.ศ. 2572 

2. ส่วนต่อขยายที่ 1 ประกอบด้วย ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท (สถานีอ่อนนุช-สถานีแบริ่ง) และส่วนต่อขยายสายสีลม (สถานีสะพานตากสิน-สถานีบางหว้า) โดยกรุงเทพมหานครเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างและติดตั้งงานระบบ พร้อมทำสัญญาจ้าง “บีทีเอสซี” ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนรายเดิมเป็นผู้ให้บริการเดินรถ 

3. ส่วนต่อขยายที่ 2 ประกอบด้วย ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท (ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ) และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างงานโยธาและเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเดิม ต่อมาการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยได้จำหน่ายทรัพย์สินและโอนภาระทางการเงินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ให้กรุงเทพมหานคร 

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีประเด็นที่น่าสนใจหลายประการ ได้แก่

1. ปัญหาความชัดเจนการขยายสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลัก โดยมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้เสนอเรื่องไปยังกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงมหาดไทยเสนอเรื่องส่งถึงสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อรอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป

2. ภาระหนี้สินของกรุงเทพมหานครที่เกิดจากการรับโอนโครงการส่วนต่อขยายที่ 2 โดยเป็นค่างานโยธาและดอกเบี้ยถึง พ.ศ. 2572 รวมทั้งสิ้นประมาณ 69,000 ล้านบาท 

3. ภาระหนี้ค้างจ่ายสะสมของกรุงเทพมหานคร ณ สิ้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 มีหนี้ค้างจ่ายบีทีเอสซี ประมาณ 30,000 ล้านบาท ทั้งนี้ บีทีเอสซีได้ทำหนังสือติดตามทวงถามการชำระหนี้มายังกรุงเทพมหานคร และเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2564 ในการประชุมสภากรุงเทพมหานครได้มีการพิจารณาญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เนื่องด้วยกรุงเทพมหานครมีความจำเป็นในการชำระหนี้ค่าจ้างงานเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย โดยที่ประชุมมีมติไม่เห็นชอบญัตติร่างข้อบัญญัติฯ ดังกล่าว

4. ประเด็นค่าโดยสาร โดยเส้นทางส่วนหลักได้กำหนดค่าโดยสาร 16-44 บาท เป็นไปตามสัญญาสัมปทาน ขณะที่ช่วงส่วนต่อขยายทั้งหมดกรุงเทพมหานครเป็นผู้กำหนดค่าโดยสารและบีทีเอสซีอยู่ในฐานะผู้รับจ้างการเดินรถในส่วนต่อขยายตามสัญญาจ้างเดินรถที่จะสิ้นสุด พ.ศ. 2585 อย่างไรก็ตาม จากภาระต้นทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว กรุงเทพมหานครได้มีประกาศให้จัดเก็บค่าโดยสารตลอดเส้นทางไม่เกิน 104 บาท จนเกิดกระแสสังคมถึงความเหมาะสมของค่าโดยสาร ต่อมากรุงเทพมหานครได้มีประกาศขอเลื่อนการจัดเก็บค่าโดยสารสูงสุด 104 บาทออกไปก่อนเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน

ทั้งนี้ จากประเด็นโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวข้างต้น จึงเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา ดังนี้

1. การประมูลหาผู้รับสัมปทานใหม่ภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน พ.ศ. 2572
กรณีนี้กรุงเทพมหานครจะสามารถกำหนดค่าโดยสารให้ถูกลงได้ โดยกำหนดเป็นเงื่อนไขค่าโดยสารไว้ในสัญญาสัมปทานใหม่ แต่กรุงเทพมหานครจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจากภาครัฐเพื่อให้มีสภาพคล่องหรือกระแสเงินสดที่มากเพียงพอ และอาจเกิดข้อพิพาทฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายระหว่างกรุงเทพมหานครกับบีทีเอสซีจากสัญญาว่าจ้างให้บริการเดินรถทั้งส่วนหลักและส่วนต่อขยายจนถึง พ.ศ. 2585

2. การทำสัญญาจ้างบีทีเอสซีให้บริการเดินรถภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน พ.ศ. 2572
กรณีนี้รายได้จากค่าโดยสารทั้งหมดจะเป็นของกรุงเทพมหานครและสามารถกำหนดค่าโดยสารให้ถูกลงได้โดยจะไม่มีข้อพิพาทกับบีทีเอสซี แต่กรุงเทพมหานครจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจากภาครัฐเพื่อให้มีสภาพคล่องหรือกระแสเงินสดที่มากเพียงพอในการดำเนินการ

3. การขยายสัญญาสัมปทานให้บีทีเอสซี
กรณีนี้กรุงเทพมหานครจะสามารถแก้ไขปัญหาภาระหนี้สินและข้อจำกัดด้านการเงินที่อาจจะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐได้ แต่การขยายสัญญาสัมปทานอาจเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเท่านั้น ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นแบบบูรณาการได้

ทั้งนี้ ประเด็นโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น จำเป็นที่ภาครัฐและกรุงเทพมหานครจะต้องให้ความสำคัญ พร้อมเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินโครงการและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ และประชาชนผู้โดยสารต่อไป

ภาพปก