การเรียกร้องกฎหมาย PRTR ในประเทศไทยจากเหตุระเบิดและเพลิงไหม้โรงงานหมิงตี้เคมีคอล

Script Writer
วิลาสิณี ฉายรัตน์ตระกูล, วิทยากรชำนาญการ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2021-10
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

เหตุระเบิดและเพลิงไหม้โรงงานผลิตเม็ดโฟมพลาสติก หมิงตี้เคมีคอล จำกัด ภายในซอยกิ่งแก้ว 21 ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เวลาประมาณ 03.30 นาฬิกา ของวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 และเกิดการระเบิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ต่อเนื่องมาจนวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 แรงอัดจากการระเบิดทำให้อาคารบ้านเรือนที่อยู่โดยรอบบริเวณโรงงานได้รับความเสียหาย เปลวไฟโหมลุกไหม้อย่างรุนแรงพุ่งสู่ท้องฟ้าทำให้มองเห็นได้ในระยะไกล และมีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต กรมควบคุมมลพิษเข้าตรวจสอบค่าสารมลพิษในพื้นที่เกิดเหตุและระบุว่าสารเคมีที่ถูกไฟไหม้ คือ สไตรีนโมโนเมอร์ ซึ่งเมื่อถูกเผาไหม้แล้วจะก่อให้เกิดสารก่อมะเร็ง หากสูดดมจะส่งผลต่อร่างกายและระบบประสาท กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงสั่งอพยพประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงในรัศมี 5 กิโลเมตรจากโรงงาน

อัคคีภัยจากเหตุระเบิดและเพลิงไหม้โรงงานดังกล่าวเป็นอุทาหรณ์ให้เห็นว่าประชาชนและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีและจำนวนสารเคมีที่อยู่ในการครอบครองของโรงงานที่ตั้งอยู่ในละแวกที่พักอาศัย อันตรายของสารเคมีในกรณีที่ถูกเผาไหม้และฟุ้งกระจาย ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากสารเคมีปนเปื้อนในอากาศ ดินและแหล่งน้ำ และความจำเป็นในการอพยพหากเกิดอุบัติภัยจากสารเคมีภายในโรงงาน ทำให้ไม่มีการเตรียมความพร้อมในการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างทันท่วงทีและกระทบโดยตรงต่อสวัสดิภาพของประชาชน จนเป็นที่มาของการเรียกร้องให้มีกฎหมายที่กำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมเปิดเผยข้อมูลการปล่อยมลพิษที่เกิดจากการผลิตภายในโรงงานต่อสาธารณชน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบที่มาของมลพิษที่อยู่ใกล้ตัวและอาจส่งผลต่อสภาพแวดล้อมที่ตนอาศัยอยู่ โดยโรงงานต้องมีหลักเกณฑ์ในการตรวจวัดมลพิษที่ชัดเจนที่ต้องรายงานต่อกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งได้แก่ กฎหมาย PRTR หรือกฎหมายการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (Pollutant Release andTransfer Register: PRTR)

หัวใจสำคัญของกฎหมาย PRTR คือ สิทธิของชุมชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร (Community Right-to-Know) ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีพัฒนาการจากอุบัติภัยสารเคมีรั่วไหลขนาดใหญ่ของโรงงานยูเนี่ยนคาร์ไบด์ เมืองโภปาล สาธารณรัฐอินเดีย เมื่อปี 2527 และอุบัติภัยในลักษณะเดียวกันที่รัฐเวสต์เวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2529 คนงานและชุมชนที่อยู่ใกล้กับนิคมอุตสาหกรรมต่างเรียกร้องให้โรงงานเปิดเผยข้อมูลการใช้สารเคมีอันตรายต่อสาธารณชน ปัจจุบันพบว่า มากกว่า 50 ประเทศทั่วโลกมีการประกาศใช้กฎหมาย PRTR เพื่อรักษาสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลสารมลพิษรอบตัวที่เชื่อมโยงกับความปลอดภัยและสวัสดิภาพของประชาชน ซึ่งยังเป็นข้อมูลพื้นฐานในการกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนเป็นธรรมกับการปกป้องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนควบคู่กันไป

ในกรณีของประเทศไทย หากพิจารณาจากพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การให้แจ้งข้อเท็จจริงของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งวัตถุอันตรายที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ พ.ศ. 2547 พบว่า มีการกำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมมีหน้าที่ในการจัดทำข้อมูลวัตถุอันตรายที่มีในสถานประกอบการต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรม แต่มิได้กำหนดให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะต้องเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเพื่อตรวจสอบได้ ดังนั้น จึงไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นกฎหมาย PRTR ของประเทศไทยได้อย่างแท้จริง

เมื่อเดือนมกราคม 2564 นายวรภพ วิริยะโรจน์ กับคณะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลได้ยื่น "ร่างพระราชบัญญัติการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม พ.ศ. …" เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร แต่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ซึ่งในการเสนอจะต้องได้รับคำรับรองของนายกรัฐมนตรีก่อนจึงจะเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรได้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจึงนำร่างพระราชบัญญัติให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา และเมื่อ 24 มิถุนายน 2564 นายกรัฐมนตรีไม่ให้คำรับรองร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ อย่างไรก็ตาม มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) และนายวรภพ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล มีความพยายามที่จะผลักดันร่างกฎหมาย PRTR ให้กลับเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง ผ่านทางการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยภาคประชาชน 

ภาพปก