กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

Script Writer
นารีลักษณ์ ศิริวรรณ, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2019-09
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญเติบตอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพจำเป็นต้องอาศัยความรู้และความก้าวหน้าในการวิจัยและนวัตกรรมที่ต้องมีการสร้งและสะสมองค์ความรู้ให้ทันสมัยตลอดเวลาเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ให้ก้าวพ้นจาก "กับดับรายได้ปานกลาง" หรือจุดที่ประเทศพัฒนาเศรษฐกิจจากรายได้น้อยมาสู่ระดับที่มีรายได้มากขึ้น แต่ยังไม่สามารถยกระดับเศรษฐกิจเข้าสู่ประเทศที่มีรายได้สูง เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้หรือฐานะและแก้ปัญหาการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนด้วยรูปแบบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยฐานความรู้ด้านการวิจัยและนวัตกรรม หรือที่เรียกในปัจจุบันว่า "ประเทศไทย 4.0" (Thailand 4.0) กล่าวคือ
1) การผลักดันสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม 
2) การขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรมไปสู่เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์  
3) การเน้นภาคการผลิตสินค้าไปสู่ภาคบริการมากขึ้น ทั้งนี้ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเกิดจากความสามารถในการแข่งขันของประเทศซึ่งมาจากการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการในฐานะหน่วยงานซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการเสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการพัฒนโครงสร้างและระบบราชการ ตลอดจนงานของรัฐอย่างอื่น จึงเห็นความจำเป็นในการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ส่งร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ..ศ.... พร้อมกับร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวง กรม (ฉบับที่...) พ.ศ. ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ซึ่งคณะกรรมการฯ มีความเห็นว่ากระทรวงที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ควรใช้ชื่อว่า "กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม" ทั้งนี้เนื่องจากเป็นการจัดตั้งกระทรวงใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา โดยปรับเปลี่ยนโครงสร้างของการอุดมศึกษาให้มีเอกภาพเกิดการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม(ฉบับที่..) พ.ศ. จัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในวันที่ 1 มีนาคม 2562 และประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 2พฤษภาคม พ.ศ. 2562

เจตนารมณ์ของการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คือ เพื่อปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยการยกเลิกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา และกำหนดโครงสร้างกระทรวงใหม่ โดยรวมหลายหน่วยงานเข้าด้วยกันเพื่อให้มีพลังมากขึ้น (Synergy) เกิดการแลกเปลี่ยนบุคลากรอย่างคล่องตัว (Mobility) ที่เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรร่วมกัน โดยมีเป้าหมายในการสร้างนวัตกรรมให้แก่ประเทศ (Innovation) ประกอบด้วย ส่วนราชการในสังกัด ได้แก่ สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวงกรมวิทยาศาสตร์บริการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทั้งนี้โดยมีเป้าหมายในการปฏิรูป 3 เรื่องสำคัญ คือ 
1) ปฏิรูประบบราชการเพื่อให้มีการบูรณาการทำงานด้านวิจัยและการสร้างบุคลากร 
2) ปฏิรูปกฎระเบียบเพื่อผลักดันให้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมสามารถสร้างประโยชน์ต่อทั้งเศรษฐกิจ สังคมและชุมชน 
3) ปฏิรูประบบงบประมาณโดยปรับปรุงรูปแบบและวิธีการทางงบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล สำหรับอำนาจหน้าที่ของกระทรวงฯ มีดังนี้

   (1) ส่งเสริมสนับสนุนและกำกับดูแลอุดศึกษาให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยมีความเป็นอิสระทางวิชาการและบริหารจัดการให้มีการพัฒนากำลังคนสอดคล้องกับความต้องการของ  ประเทศ และให้ดำเนินการวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์และสหวิทยาการ 
   (2) ส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแลการวิจัยและการสร้างสรรค์นวัตกรรมของสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมที่อยู่ในสังกัดกระทรวงหรือกำกับดูแลของรัฐมนตรี รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมที่อยู่นอกกระทรวงเพื่อให้เกิดความร่วมมือ และดำเนินการไปในทิศทางที่มีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ 
   (3) จัดให้มีระบบนิเวศและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือเพื่อผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทาง และความร่วม มือด้านการวิจัยและการสร้างสรรค์นวัตกรรมกับหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบุคคลหรือหน่วยงานในต่างประเทศ 
   (4) ปฏิบัติการอื่นที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของกระทรวง

อย่างไรก็ตาม ประเด็นท้าทายที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมต้องเตรียมการรองรับภารกิจงานใหม่ โดยเฉพาะในเรื่องการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนงาน และงบประมาณของหน่วยงานภายในสังกัดกระทรวงฯ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ กล่าวคือ การสร้างระบบงานอย่างมีเอกภาพระหว่างอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม การพัฒนาบุคลากรภาคการอุดมศึกษา บูรณากรผลงานวิจัยและองค์ความรู้ไปสู่ผู้ใช้ประโยชน์ จัดสรรทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้มีประสิทธิภาพ คุ้มค่าและไม่ซ้ำซ้อน สามารถพัฒนาและแก้ไขปัญหาของสังคมและประเทศอย่างยั่งยืน

ภาพปก