สถานีรถไฟกรุงเทพ

Script Writer
เปรม ถาวรประภาสวัสดิ์, วิทยากรปฏิบัติการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2020-09
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

สถานีรถไฟกรุงเทพหรือหัวลำโพงที่ประชาชนรู้จัก เป็นสถานีรถไฟหลักของประเทศไทย เริ่มก่อสร้างใน พ.ศ. 2453 ซึ่งตรงกับช่วงปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สถานีรถไฟกรุงเทพได้ดำเนินการก่อสร้างจนสำเร็จในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีกดปุ่มสัญญาณไฟฟ้าเพื่อให้รถไฟขบวนแรกวิ่งเข้าสู่สถานีรถไฟกรุงเทพเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2459

มาริโอ ตามัญโญ สถาปนิกชาวอิตาลีเป็นผู้ออกแบบสถานีรถไฟกรุงเทพ สถาปนิกผู้นี้นอกจากจะออกแบบสถานีรถไฟกรุงเทพแล้วยังได้ออกแบบพระที่นั่งอนันตสมาคม วังปารุสกวัน และสถานีรถไฟจิตรลดาอีกด้วย สถานีรถไฟกรุงเทพมีพื้นที่ประมาณ 120 ไร่ ตั้งอยู่ในแขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร มีรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นโดมรูปแบบอิตาเลียนผสมกับศิลปะยุคสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา อาคารโถงสถานีสร้างเป็นหลังคาโค้งกว้างแบบทรงกระบอกผ่าซีกตามแบบฉบับสถานีรถไฟในยุโรป มีลักษณะคล้ายคลึงกับสถานีรถไฟแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี ด้านหน้าเป็นอาคารแบบนีโอคลาสสิกมีหอคอยสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่ปลายปีกทั้งสองด้าน มีจุดเด่นคือกระจกสีที่มีความสวยงามและกลมกลืนประดับอยู่ตามช่องระบายอากาศทั้งด้านหน้าและด้านหลัง นอกจากนี้ยังมีจุดเด่นคือ นาฬิกาบอกเวลาที่มีอายุเก่าแก่เท่ากับอาคารสถานีรถไฟกรุงเทพ ซึ่งติดตั้งอยู่กึ่งกลางยอดโดม มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 160 เซนติเมตร ควบคุมด้วยไฟฟ้าระบบ ดี.ซี. จากห้องชุมสายโทรศัพท์กรุงเทพ เป็นนาฬิกาบอกเวลาแก่ผู้ใช้บริการที่สถานีรถไฟกรุงเทพและผู้สัญจรผ่านไปมาบริเวณสถานี

กิจการรถไฟได้พัฒนาเจริญก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง กรมรถไฟเห็นว่าสถานีรถไฟกรุงเทพควรมีโรงแรมชั้นหนึ่งให้บริการภายในสถานีรถไฟด้วย จึงได้ดำเนินการสร้างโรงแรมภายในสถานีรถไฟกรุงเทพ และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดโรงแรมเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2470 โรงแรมนี้ชื่อว่า “โฮเต็ลราชธานี” มีห้องพักจำนวน 10 ห้อง มีความทันสมัยมากในขณะนั้น ประกอบด้วยระเบียงทางเดิน ห้องอาบน้ำที่มีทั้งน้ำร้อนและน้ำเย็น เครื่องใช้ไฟฟ้าที่อำนวยความสะดวก กิจการโฮเต็ลราชธานีได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ต่อมาภายหลังได้ยุติกิจการโรงแรมเมื่อ พ.ศ. 2512 แต่ยังคงเหลือร่องรอยที่มีความสวยงามให้เห็นอยู่คือโถงบันไดกลางโรงแรมและเสาหินอ่อนสลักหัวเสาเป็นตัวอักษร RSR ส่วนห้องพักและระเบียงทางเดินได้ปรับเปลี่ยนเป็นที่ทำการส่วนหนึ่งของการรถไฟแห่งประเทศไทย

ตั้งแต่สถานีรถไฟกรุงเทพได้เปิดใช้งานจนมาถึงปัจจุบันนับเป็นเวลากว่า 104 ปีมาแล้ว สถานีรถไฟกรุงเทพได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ในแต่ละวันจะมีจำนวนขบวนรถไฟเข้าออกในสถานีตลอดตั้งแต่ตอนเช้าจนถึงตอนกลางคืนมากกว่า 100 ขบวน ทั้งรถไฟทางไกลปลายทางเชียงใหม่ หนองคาย อุบลราชธานี นครศรีธรรมราช ตรัง กันตัง หาดใหญ่ สุไหงโก-ลก และรถไฟชานเมืองในระยะทางใกล้ ๆ สถานีรถไฟกรุงเทพจึงเป็นสัญลักษณ์ในการเดินทางด้วยรถไฟอย่างแท้จริง นอกจากนี้ สถานีรถไฟกรุงเทพยังเป็นสถานีที่เชื่อมต่อกับสถานี MRT หัวลำโพงในเส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และด้านหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพยังมีพิพิธภัณฑ์รถไฟไทยเป็นที่จัดแสดงอุปกรณ์ที่ใช้ในกิจการรถไฟในอดีตรวมถึงยังมีของที่ระลึกจัดจำหน่ายอีกด้วย

แม้ว่าสถานีรถไฟกรุงเทพจะมีพื้นที่ขนาดใหญ่แต่ก็ไม่สามารถรองรับผู้โดยสารที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันได้ อีกทั้งด้วยจำนวนขบวนรถไฟเข้าออกในสถานีมีปริมาณมากขึ้นส่งผลกระทบต่อการจราจรทางบกและทางราง การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงได้ดำเนินโครงการที่จะย้ายสถานีรถไฟหลักของประเทศไทยไปอยู่บริเวณบางซื่อและพัฒนาให้เป็นสถานีรถไฟหลักแห่งใหม่ของประเทศไทย ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟครั้งใหญ่ สถานีแห่งใหม่มีชื่อว่า “สถานีกลางบางซื่อ” เป็นสถานีรถไฟที่รวมรถไฟทางไกล รถไฟฟ้าชานเมือง รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยาน และรถไฟความเร็วสูงเข้าด้วยกัน เมื่อการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อดำเนินการก่อสร้างจนสำเร็จแล้ว สถานีรถไฟกรุงเทพจะถูกลดบทบาทลงจากเดิม มีขบวนรถไฟเข้าสู่สถานีน้อยลง และมีการพัฒนาพื้นที่บางส่วนเพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับรถไฟต่อไป

ภาพปก