ความเป็นมาของกำนัน ผู้ใหญ่บ้านของประเทศไทย

Script Writer
นายฉัตรชัย ศรีเมืองกาญจนา, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-03
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

กำนันและผู้ใหญ่บ้านเป็นกำลังสำคัญของกระทรวงมหาดไทยในการบริหารราชการส่วนภูมิภาค มีหน้าที่สำคัญในการช่วยเหลือนายอำเภอในการปฏิบัติหน้าที่และเป็นหัวหน้าราษฎรในหมู่บ้านหรือตำบลนั้น ๆ การรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยให้แก่ราษฎรในพื้นที่ รวมทั้งยังเป็นผู้ปฏิบัติงานตามนโยบายเร่งด่วนหรือภารกิจที่ได้รับมอบหมายพิเศษจากทางราชการ จากบทบาทหน้าที่ดังกล่าวจะเห็นได้ว่ากำนันและผู้ใหญ่บ้านมีความสำคัญต่อการบริหารราชการส่วนภูมิภาคเพราะเป็นตัวแทนของภาครัฐที่เชื่อมต่อระหว่างภาครัฐกับประชาชนได้เป็นอย่างดี

การถือกำเนิดขึ้นของกำนันและผู้ใหญ่บ้านในประเทศไทย มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี โดยในสมัยนั้นแต่ละเมืองจะมีผู้ปกครอง คือ

1) เจ้าเมือง เป็นผู้ปกครองที่มีหลายหมื่นหลังคาเรือน มีปลัดเมืองเป็นผู้ช่วย

2) นายแขวงหรือนายอำเภอ เป็นผู้ปกครองที่มีราวหมื่นหลังคาเรือน ขึ้นตรงต่อเจ้าเมือง

3) นายแคว้นหรือกำนัน เป็นผู้ปกครองราวพันหลังคาเรือน ขึ้นตรงต่อนายแขวง 

4) นายบ้านหรือผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้ปกครองหลายร้อยหลังคาเรือน ขึ้นตรงต่อนายแคว้น 

จากนั้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้มีการจัดระเบียบการปกครองท้องที่ โดยภายในเมืองหนึ่ง ๆ ทั้งหัวเมืองชั้นนอกและหัวเมืองชั้นใน แบ่งเมืองออกเป็นแขวง และแขวงแบ่งออกเป็นตำบล มีกำนันเป็นหัวหน้าและได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “พัน” และหลายตำบลรวมกันเป็นแขวง มีหมื่นแขวงเป็นผู้ปกครอง หลายแขวงรวมกันเป็นเมือง มีผู้รั้งหรือพระยามหานครเป็นผู้ปกครอง หากเปรียบเทียบแล้วเมืองมีลักษณะคล้ายจังหวัด และแขวงเทียบเท่าอำเภอในปัจจุบัน การปกครองรูปแบบนี้ได้ยึดถือมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินให้มีความทันสมัย โดยได้ทรงปฏิรูประบบบริหารราชการส่วนกลาง มีการจัดตั้งกระทรวงแบบใหม่ขึ้น จำนวน 12 กระทรวง เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการบริหารประเทศ ทรงริเริ่มปรับปรุงการปกครองท้องที่ต่าง ๆ ในราชอาณาจักร โดยทรงมุ่งหมายที่จะจัดให้เป็นระบบเดียวกันทั้งประเทศและมีความเชื่อมโยงกับส่วนกลางอย่างใกล้ชิด ระบบการปกครองท้องที่ดังกล่าวเรียกว่า “เทศาภิบาล” ซึ่งการปกครองแบบเทศาภิบาลนี้จะมีมณฑลเทศาภิบาลเป็นเขตปกครองที่ใหญ่ที่สุด รองลงไปได้แก่จังหวัดต่าง ๆ และภายในแต่ละจังหวัดมีการแบ่งเขตการปกครองออกเป็นอำเภอ ตำบลและหมู่บ้านตามลำดับจากการจัดรูปแบบการปกครองท้องที่ขึ้นในระดับตำบลและหมู่บ้านดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยคนแรก) ทดลองจัดระเบียบการปกครองระดับตำบล หมู่บ้าน ณ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อ ร.ศ. 111 (พ.ศ. 2435) โดยให้ราษฎรเลือกตั้ง ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ปกครองในเขตหมู่บ้าน และให้ผู้ใหญ่บ้านในเขตตำบลเลือกกันเองเพื่อเป็นกำนัน ซึ่งในขณะนั้นผู้ใหญ่บ้านที่เข้าร่วมประชุมได้เลือกหลวงราชภพน์บริหาร หรือพระยารัตนกุลอดุลยภักดี (จำรัส รัตนกุล) เป็นกำนันประจำตำบลบ้านเลน หลวงราชภพน์บริหารจึงเป็นกำนันคนแรกของประเทศไทย นับแต่นั้นมาจึงได้มีการจัดระเบียบการปกครองตำบล หมู่บ้านตามหัวเมืองต่าง ๆ โดยตราเป็นพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 ขึ้นใช้บังคับแทน และสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

การปกครองท้องที่ในระดับตำบลและหมู่บ้านถึงแม้จะเป็นหน่วยปกครองที่มีขนาดเล็กที่สุด แต่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าหน่วยการปกครองในระดับอื่น ทั้งต่อการบริหารราชการแผ่นดินในภาพรวม และในด้านของความเป็นอยู่ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ เนื่องจากตำบลและหมู่บ้านเป็นหน่วยปกครองที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด สามารถสะท้อนปัญหาและความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม ถึงแม้บริบทของสภาพสังคม การเมืองการปกครองจะเปลี่ยนไป กำนันและผู้ใหญ่บ้านก็ยังคงเป็นเรี่ยวแรงสำคัญของกระทรวงมหาดไทยในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้แก่ราษฎรในตำบลและหมู่บ้านต่าง ๆ ทั่วประเทศ 

 

 

ภาพปก