ชุมชนที่ยั่งยืน

Script Writer
สุรัสวดี จันทร์บุญนะ, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-03
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ภายใต้ความแปรปรวนของภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทำให้เกิดกระแสการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนต่าง ๆ การนำแนวคิดการจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการนำไปสู่การพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนและการสร้างความยั่งยืนของชุมชนในด้านสิ่งแวดล้อมส่งผลให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างสงบสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดความเสี่ยงในการเกิดภัยพิบัติและภัยธรรมชาติ อีกทั้งเป็นการผลักดันให้ประเทศสามารถพัฒนาไปในทิศทางที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งปัจจุบันพบว่า ชุมชนหลายแห่งสามารถพัฒนาชุมชนภายใต้แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนมีการปฏิบัติจนประสบผลสำเร็จทำให้ชุมชนนั้น ๆ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ประชาชนวัยทำงานที่ออกจากถิ่นฐานเพื่อไปหางานทำในเมืองใหญ่ตัดสินใจกลับมาทำงานและใช้ชีวิตในชุมชนอีกครั้งหนึ่ง โดยชุมชนตัวอย่างที่มีการพัฒนาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และสร้างความเป็นชุมชนต้นแบบมีอยู่หลายชุมชน ดังนี้

1. ชุมชนกุดหมากไฟ ตำบลกุดหมากไฟ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี ดำเนินการจัดการป่าร่วมกันในลักษณะเครือข่ายป่าชุมชนกระจายรอบพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติภูเก้าภูพานคำเพื่อการใช้ประโยชน์ร่วมกันของชุมชน เช่น ด้านอาหาร ยา สมุนไพร และการเก็บหาของป่า เป็นต้น และมีแผนในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเชิงประวัติศาสตร์ ยิ่งส่งเสริมให้ป่าชุมชนมีความอุดมสมบูรณ์จนเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญในการหล่อเลี้ยงประชาชนในพื้นที่ตำบลกุดหมากไฟเพื่อใช้ในการอุปโภค บริโภค ตลอดจนทำการเกษตรกรรม นอกจากนี้ ชุมชนยังมีการประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมผ่านเวทีประชุมสัญจรตำบลที่จัดขึ้นทุกเดือน และหากมีปัญหาเฉพาะที่สำคัญจะมีการประชุมเพื่อร่วมกันแก้ไขและดำเนินการในรูปเครือข่าย ตลอดจนมีกฎกติกาสำหรับการใช้ประโยชน์ร่วมกันจากป่าชุมชน เช่น

  1. 1) ห้ามตัดไม้ทำลายป่าทุกชนิดในเขตป่าชุมชน 
  2. 2) ห้ามเผาป่าในเขตป่าชุมชน 
  3. 3) ห้ามล่าสัตว์ป่าทุกชนิด
  4. 4) ห้ามบุกรุกพื้นที่ในเขตป่าชุมชน 
  5. 5) ห้ามเก็บหน่อไม้และของป่าในช่วงเดือนกันยายนเพื่อต้องการให้หน่อไม้ได้เจริญเติบโตและแตกหน่อ 
  6. 6) ห้ามเททิ้งขยะในเขตป่าชุมชน
  7. 7) ห้ามนำต้นกล้วยไม้ออกจากป่าชุมชน เป็นต้น

2. ชุมชนวังหว้า อำเภอแกลง จังหวัดระยอง มีการสร้างสิ่งแวดล้อมรอบบ้านให้น่าอยู่โดยมีการจัดการมลภาวะที่เกิดจากขยะอย่างเป็นระบบ ร่วมหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาขยะอย่างต่อเนื่อง จัดกิจกรรมในชุมชนให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการลดขยะตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ซึ่งปัจจุบันชุมชนสามารถจัดการปัญหาขยะได้เต็มรูปแบบจนสามารถยกระดับสู่ “ชุมชนต้นแบบ” ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และเป็นชุมชนที่เข้มแข็งสามารถบริหารจัดการตัวเองได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ด้านการจัดการขยะให้กับผู้นำชุมชนเพื่อปรับเปลี่ยนแนวคิดและเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านกระบวนการรวมถึงการจัดทำโครงการธนาคารขยะภายในชุมชน โดยนำนโยบาย “ไม่มีถังขยะ” อยู่หน้าบ้าน ซึ่งทุกครัวเรือนจะผ่านการฝึกอบรมเกี่ยวกับขยะมาเป็นอย่างดีตั้งแต่การคัดแยกขยะภายในบ้านโดยมีการกำหนดวันเวลาสำหรับทิ้งขยะแต่ละประเภท เช่น ขยะอินทรีย์จำพวกเศษอาหารต่าง ๆ สามารถนำมาวางไว้หน้าบ้านทุกวัน ตั้งแต่เวลา 17.30 นาฬิกา เป็นต้นไป จากนั้นจะมีรถขยะมาเก็บเพื่อนำไปทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ขยะทั่วไปที่ผ่านการคัดแยกแล้วให้นำมาวางหน้าบ้านในเวลา 06.00–08.00 นาฬิกา ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดีส่วนขยะอันตรายประเภทหลอดไฟ ถ่านไฟฉาย และกระป๋องสารเคมีจะมีจุดทิ้งที่ชุมชนจัดเตรียมไว้เพื่อนำมาคัดแยกและกำจัดต่อไป เป็นต้น

จากการดำเนินโครงการสร้างความยั่งยืนของชุมชนด้านการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือของประชาชนในชุมชนเพื่อมุ่งสู่ “ชุมชนที่ยั่งยืน” ผ่านกิจกรรมที่ประชาชนร่วมกันออกแบบกลไก มาตรการ และกติกาในการป้องกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น อีกทั้งมีการสื่อสารให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันเพื่อช่วยสร้างความร่วมมือในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังมากขึ้น โดยปัจจัยความสำเร็จในการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน คือ 

  1. 1) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง 
  2. 2) การสร้างเสริมความเข้มแข็งของภาคีเครือข่ายประชาชน
  3. 3) การพัฒนาศักยภาพของผู้นำและประชาชนในชุมชนผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้ได้รับผลประโยชน์ร่วมกันเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ชุมชนอื่นสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ สภาพพื้นที่และบริบทของแต่ละชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเพื่อสร้างความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต
     
ภาพปก