อินโฟกราฟิก เรื่อง ข้อมูลชีวมาตร Biometrics Data

อินโฟกราฟิก เรื่อง ข้อมูลชีวมาตร Biometrics Data
Author:
นราภัทร เพชรมณี
No. of Pages:
1
Year:
2021

ข้อมูลชีวมาตร

จากบทความร้อยเรื่องเมืองไทย เรียบเรียงโดย คุณสุภาพิชญ์  ถิระวัฒน์ มีความน่าสนใจเช่นไร จะพาไปติดตามกันค่ะ
ข้อมูลชีวมาตร หรือ ข้อมูลชีวภาพ (Biometrics Data) หมายถึง ข้อมูลส่วนบุคคลที่เกิดจากการใช้เทคนิคหรือเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการนำลักษณะเด่นทางกายภาพหรือทางพฤติกรรมของบุคคลมาใช้ ทำให้สามารถยืนยันตัวตนของบุคคลนั้นที่ไม่เหมือนกับบุคคลอื่นได้ 
ข้อมูลอัตลักษณ์ทางกายภาพของบุคคล เช่น ข้อมูลภาพจำลองใบหน้า ข้อมูลจำลองม่านตา หรือข้อมูลจำลองลายนิ้วมือ
เป็นข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือเพราะเป็นข้อมูลที่แม้แต่เจ้าของข้อมูลเองก็ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้
การนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น 

  • การสแกนลายนิ้วมือเพื่อบันทึกเวลาเข้าและออกจากสถานที่ทำงาน
  • การบันทึกข้อมูลรูปใบหน้า ม่านตา และลายนิ้วมือในหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับเข้ารหัสข้อมูลเพื่อการตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของหนังสือเดินทาง 
  • การยืนยันตัวตนในการทำธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารผ่านแอปพลิเคชัน

การจัดเก็บข้อมูลชีวมาตรซึ่งเป็นข้อมูลที่มีความอ่อนไหว จึงจำเป็นต้องมีมาตรการคุ้มครองและกำกับดูแลข้อมูลเป็นพิเศษ
เนื่องจากหากข้อมูลรั่วไหลไปสู่บุคคลอื่นหรือถูกนำไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ เช่น ถูกนำไปใช้ยืนยันตัวตนเพื่อทำธุรกรรมหรือสวมสิทธิ หรือประกอบอาชญากรรมแล้วจะทำให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของข้อมูลเป็นอย่างมาก และอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมอีกด้วย

พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ตราขึ้นเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และคุ้มครองข้อมูลชีวมาตรและข้อมูลอื่นที่มีความอ่อนไหว เช่น เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ศาสนา และพฤติกรรมทางเพศไว้เป็นพิเศษ มีผลบังคับใช้ทั้งฉบับเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 
แต่เนื่องจากหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีรายละเอียดซับซ้อนและต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการดำเนินการ ทำให้หน่วยงานและกิจการบางประเภทยังไม่มีความพร้อมที่จะปฏิบัติตามได้ทัน


มีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานและกิจการที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 พ.ศ. 2563 
ยกเว้นให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นหน่วยงานหรือกิจการทั้งสิ้น 22 ประเภท เช่น หน่วยงานของรัฐ มูลนิธิ กิจการด้านเกษตรกรรม และกิจการด้านอุตสาหกรรมไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวในบางหมวด ได้แก่ การคุ้มครองข้อมูส่วนบุคคล สิทธิของเจ้าของข้อมูล การร้องเรียน ความรับผิดทางแพ่ง และบทกำหนดโทษ ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564  


ดังนั้นการคุ้มครองข้อมูลชีวมาตรสำหรับกิจการทั้ง 22 ประเภทในช่วงเวลาดังกล่าว จึงต้องดำเนินการให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลตามมาตรฐานที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกำหนด ก่อนต้องปฏิบัติตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 กำหนด ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป

อ่านเพิ่มเติม

ข้อมูลชีวมาตร

พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562

พระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานและกิจการที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 พ.ศ. 2563

 

หมวดหมู่อินโฟกราฟิก :