สรุปผลการประชุมเชิงนโยบาย Public Policy Forum เรื่อง กัญชา - สู่พืชเศรษฐกิจและประเด็นเชิงนโยบาย

การประชุมเชิงนโยบาย (Public Policy Forum) เรื่อง กัญชา-สู่พืชเศรษฐกิจและประเด็นเชิงนโยบาย เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อส่งเสริมการนำผลงานวิจัยของหน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ไปใช้ประโยชน์ในกระบวนการนิติบัญญัติ โดยได้ตั้งเป็นโครงการยกระดับกลไกการเชื่อมโยงงานวิจัยและนวัตกรรมกับฝ่ายนิติบัญญัติสำหรับการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการนำผลงานวิจัยของหน่วยงานในระบบ ววน. ไปใช้ประโยชน์ โดยหนึ่งในกิจกรรมที่โครงการดำเนินการ คือ การจัดประชุมเชิงนโยบาย (Public Policy Forum) เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยในประเด็นที่มีความสำคัญเชิงนโยบาย ประกอบกับเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้เห็นชอบให้สำนักวิชาการดำเนินการประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าวให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นในวันพุธที่ 9 มีนาคม 2565 เวลา 13.00–16.00 นาฬิกา โดยเป็นการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วยโปรแกรม Zoom

1.  การบรรยาย เรื่อง "ผลกระทบทางเศรษฐกิจของการเพาะปลูกกัญชาเพื่อเป็นพืชเศรษฐกิจของไทย: ข้อค้นพบและนัยสำคัญจากงานวิจัย" 

นโยบายกัญชาเพื่อการแพทย์ของต่างประเทศ 

  • แคนาดา มีการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์และสันทนาการ 
  • สหรัฐอเมริกา สามารถใช้กัญชาได้ทั้งทางการแพทย์และสันทนาการ
  • เนเธอร์แลนด์ สามารถใช้กัญชาได้ทั้งทางการแพทย์และสันทนาการ 
  • อุรุกวัย สามารถใช้กัญชาได้ทั้งทางการแพทย์และสันทนาการ 

การศึกษาอุตสาหกรรมกัญชาทางการแพทย์อย่างถูกกฎหมายของไทยเป็นอุตสาหกรรมที่เพิ่งเริ่มต้น สามารถศึกษาได้ 3 ระยะ ระยะต้นน้ำ ระยะกลางน้ำ ระยะปลายน้ำ

แนวทางในการส่งเสริมการอนุญาตให้เพาะปลูกกัญชา มีดังนี้

  • ควรมีการวางแผนโซ่อุปทานร่วมกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ 
  • ควรกระจายอำนาจการตัดสินใจในการอนุมัติใบอนุญาตต่าง ๆ ลงไปในระดับพื้นที่เพื่อให้เกิดความคล่องตัวของโซ่อุปทาน
  • มีการนำเทคโนโลยี เช่น RFID หรือ Block chain มาใช้ในการตรวจสอบย้อนกลับได้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยโปร่งใสตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
  • จัดทำ Cluster ระหว่างผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

สำหรับต้นทุนในการปลูก การสกัด และความคุ้มค่าในการลงทุนของพืชกัญชา พบว่า การปลูกแบบในร่ม และการปลูกแบบโรงเรือนทั้ง 2 รูปแบบ ยังไม่มีมาตรฐานการในปลูกได้อย่างครอบคลุม 

 

2. การบรรยาย เรื่อง "ปลดกัญชาพ้นยาเสพติด: เกษตรกรจะได้อะไร?" 

ข้อเสนอเพื่อการพัฒนาการปลูกกัญชาให้กับกลุ่มผู้ปลูกรายย่อย มีดังนี้

  • ควรมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมการลงทุนด้านกัญชาและกัญชงโดยเฉพาะ
  • อนุญาตให้กลุ่มเกษตรกร หรือ SME สามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกัญชาได้มากขึ้น 
  • ออกระเบียบให้มีโรงงานระดับชุมชนสามารถสกัดสาร 
  • เปิดโอกาสให้มีการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์กัญชาและกัญชงในระดับชุมชน 

 

3. การบรรยาย เรื่อง "อนาคตพืชกัญชา-การต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์สมุนไพร"

การใช้กัญชาในเชิงนโยบายมีทั้งหมด 3 ระยะ คือ ระยะแรกเป็นการผลิตเพื่อใช้ในการทางแพทย์ ระยะที่สองคือการส่งเสริมกัญชาให้เป็นพืชเศรษฐกิจมีความมุ่งหวังว่าจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนให้ดีขึ้น และระยะที่สามเป็นการสนับสนุนบุคคลสามารถใช้กัญชาอย่างถูกต้องตามกฎหมายอนาคตของการพัฒนาพืชกัญชาต้องคำนึงตั้งแต่ต้นทางการปลูกกัญชาไปจนถึงปลายทางที่นำกัญชาแปรรูปไปใช้ประโยชน์ จะต้องเร่งดำเนินการการขึ้นทะเบียนสายพันธุ์กัญชาของไทยให้ถูกกฎหมายเพื่อป้องกันปัญหาด้านสิทธิบัตร การแปรรูปกัญชาเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการผลิตผลิตภัณฑ์ตามพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 

ทั้งนี้ สิ่งที่พึงระวังคือ ผลข้างเคียงของการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาจึงต้องมีการศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องโดยละเอียด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาผลกระทบที่เกิดจากการใช้กัญชาได้

Event Date
2022-03-09
Year
2022
Source of Knowledge
From a Training, Meeting or Seminar
Author
ปรียวรรณ สุวรรณสูนย์, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ