Dissolution of parliament

Dissolution of parliament

ยุบสภา (dissolution of parliament) หมายถึง การดำเนินการทางการเมืองเพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดที่มีอยู่ในขณะใดขณะหนึ่งต้องพ้นจากสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปพร้อมกัน โดยนายกรัฐมนตรีจะถวายคำแนะนำเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นผลให้สภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งปวงพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ และจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป การยุบสภาที่ว่านี้ใช้กับสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น โดยไม่เกี่ยวข้องกับวุฒิสภา 

เนื่องจากระบบรัฐสภาเป็นระบบที่มีการแบ่งแยกอำนาจไม่เด็ดขาดระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร ทั้งนี้ เพื่อรักษาไว้ซึ่งดุลยภาพแห่งอำนาจและหน้าที่ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร ซึ่งความสัมพันธ์นี้เชื่อมโยงกับวิวัฒนาการของหลักการแบ่งแยกอำนาจของมองเตสกิเออ จึงเป็นข้อแตกต่างที่สำคัญประการหนึ่ง โดยที่การยุบสภาผู้แทนราษฎรมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ 2 ประการ คือ ประการแรก เป็นการถ่วงดุลหรือควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติโดยฝ่ายบริหาร ประการที่สอง เป็นการอุทธรณ์ข้อขัดแย้งต่อประชาชน เพื่อให้ประชาชนตัดสินปัญหาสำคัญโดยการแสดงออกผ่านทางการใช้สิทธิเลือกตั้ง

ระบบรัฐสภาแตกต่างจากระบบประธานาธิบดี ซึ่งในระบบประธานาธิบดีนั้นประธานาธิบดีจะยุบสภาไม่ได้ ขณะเดียวกันรัฐสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรก็ปลดหรือถอดถอนประธานาธิบดีไม่ได้ ในขณะที่ระบบรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎรสามารถปลดหรือถอดถอนนายกรัฐมนตรีได้โดยการเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ และในทางกลับกันนายกรัฐมนตรีก็มีอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่ได้เมื่อฝ่ายบริหารไม่สามารถควบคุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร 

การยุบสภาผู้แทนราษฎรจะส่งผลให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง รวมถึงการดำรงตำแหน่งของประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรต้องสิ้นสุดลงด้วย (ตามบทบัญญัติมาตรา 101 (1) และมาตรา 117 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560) และรัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่ง (ตามบทบัญญัติมาตรา 167 (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560)

สำหรับประเทศไทยมีบทบัญญัติกำหนดสิทธิหรืออำนาจในการยุบสภาไว้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 และในรัฐธรรมนูญฉบับต่อ ๆ มาก็ได้มีบทบัญญัติเรื่องการยุบสภาผู้แทนราษฎรที่ใกล้เคียงกัน คือ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ ซึ่งการยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา และให้กระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน ทั้งนี้ ภายใน 5 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ วันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ซึ่งต่างจากกรณีอายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรใหม่ เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 45 วันนับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ (ตามบทบัญญัติมาตรา 102 และมาตรา 103 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560)

ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรถูกยุบนั้น ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภา แต่จะมีการประชุมวุฒิสภาไม่ได้ เว้นแต่เป็นกรณีดังต่อไปนี้ (ตามบทบัญญัติมาตรา 126 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560)

  • 1) การให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ตามบทบัญญัติมาตรา 17 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560)    
  • 2) การปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่ของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในที่ประชุมรัฐสภา (ตามบทบัญญัติมาตรา 19 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560)
  • 3) รับทราบการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 (ตามบทบัญญัติมาตรา 20 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560)
  • 4) รับทราบการอัญเชิญพระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ หรือในการให้ความเห็นชอบและอัญเชิญพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ (ตามบทบัญญัติมาตรา 21 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560)
  • 5) การให้ความเห็นชอบในการประกาศสงครามของพระมหากษัตริย์ โดยมติให้ความเห็นชอบของรัฐสภาต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา (ตามบทบัญญัติมาตรา 177 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560)
  • 6) การทําหน้าที่พิจารณาให้บุคคลดํารงตําแหน่งใดตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เช่น การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

เมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือร่างพระราชบัญญัติที่รัฐสภายังมิได้ให้ความเห็นชอบ หรือที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้วแต่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วย หรือเมื่อพ้น 90 วันแล้วมิได้พระราชทานคืนมาให้เป็นอันตกไป บรรดาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือร่างพระราชบัญญัติที่รัฐสภายังมิได้ให้ความเห็นชอบที่ตกไป ถ้าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปร้องขอต่อรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา แล้วแต่กรณี พิจารณาต่อไป ถ้ารัฐสภาเห็นชอบด้วยก็ให้รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา แล้วแต่กรณี พิจารณาต่อไปได้ แต่คณะรัฐมนตรีต้องร้องขอภายใน 60 วันนับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป (ตามบทบัญญัติมาตรา 147 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560)

การยุบสภาผู้แทนราษฎรนั้นเรามักเข้าใจว่าเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจถูกต้องในทางปฏิบัติ แต่โดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนั้น พระมหากษัตริย์จึงทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป เนื่องจากประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรและมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ทั้งนี้ ตามประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศไทยมีการยุบสภามาแล้วจำนวน 14 ครั้ง ซึ่งครั้งแรกของประเทศไทยเกิดขึ้นในสมัยพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2481 และการยุบสภาผู้แทนราษฎรครั้งล่าสุดเกิดในสมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556

Vocab in other language(s):
ยุบสภา
Author:
อานันท์ เกียรติสารพิภพ, นิติกรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
ภูมิพิชญ์ ยาสิทธิ์, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
พิมพ์ธัญญา ฆ้องเสนาะ, วิทยากรชำนาญการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Date: