การจัดสวัสดิภาพช้างในปางช้าง

Script Writer
วันวิภา สุขสวัสดิ์, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2021-04
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการเลี้ยงสัตว์เป็นจำนวนมาก ซึ่งในการเลี้ยงสัตว์นอกจากจะต้องอาศัยการจัดการด้านสัตวบาลที่ถูกต้องเพื่อให้สัตว์เลี้ยงเจริญเติบโต ได้คุณภาพ ลดการสูญเสียแล้ว การจัดการด้านสวัสดิภาพสัตว์ก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อให้สัตว์เลี้ยงได้รับการดูแล มีความเป็นอยู่และมีสุขภาพอนามัยที่ดีรวมทั้งอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม

“ช้าง” นับเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทยและมีความผูกพันกับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน การกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดสวัสดิภาพช้างจึงมีความจำเป็น โดยเฉพาะในปางช้างซึ่งเป็นสถานที่ที่มีการเลี้ยงช้างไว้เพื่อทำกิจกรรมที่หลากหลาย ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ เพื่อให้สัตว์ได้รับการคุ้มครองมิให้ถูกกระทำการทารุณกรรม โดยเจ้าของสัตว์ซึ่งนำสัตว์มาเลี้ยงจะต้องจัดสวัสดิภาพให้เหมาะสมตามประเภทและชนิดของสัตว์ ทั้งในระหว่างการเลี้ยงดู การขนส่ง การนำสัตว์ไปใช้งาน หรือใช้ในการแสดง ให้สัตว์ได้รับการคุ้มครองตามธรรมชาติของสัตว์อย่างเหมาะสม ดังนั้น เพื่อให้มีการจัดสวัสดิภาพตามประเภทและชนิดของสัตว์ จึงได้มีการออก “ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การจัดสวัสดิภาพช้างในปางช้าง พ.ศ. 2563” ให้ช้างในปางช้างได้รับการเลี้ยงหรือการดูแลให้มีความเป็นอยู่ในสภาวะที่เหมาะสมมีสุขภาพอนามัยที่ดี มีที่อยู่ อาหาร และน้ำอย่างเพียงพอ โดยนิยามของคำว่า “ปางช้าง หมายความถึง สถานที่ ที่มีการเลี้ยงช้างไว้เพื่อใช้เป็นพาหนะ ใช้งาน ใช้ในการแสดง ใช้ในกิจการท่องเที่ยว หรือใช้ในการศึกษาและการอนุรักษ์ ไม่ว่าจะมีการแสวงหาผลประโยชน์โดยตรงจากช้างหรือไม่ก็ตาม” กำหนดให้เจ้าของช้างและควาญช้างมีหน้าที่จัดสวัสดิภาพช้างตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ประกาศฉบับนี้กำหนด ในการจัดการด้านอาหารและน้ำ ต้องจัดให้ช้างได้รับอาหารที่มีคุณภาพ ปริมาณ ความหลากหลายของอาหาร ความถี่ของการให้อาหารอย่างเหมาะสมและเพียงพอ วันละไม่น้อยกว่าร้อยละ 4 ของน้ำหนักตัวช้าง จัดให้ช้างได้รับน้ำที่สะอาดและเพียงพอตลอดทั้งวัน การจัดการด้านพื้นที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม ต้องจัดให้ช้างอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ถูกสุขลักษณะ มีอุณหภูมิที่เหมาะสม อากาศถ่ายเทสะดวก มีโรงเรือนหรือสถานที่พักระหว่างวันในขณะที่ช้างไม่ได้ทำงาน และมีโรงเรือนหรือสถานที่พักสำหรับช้างในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งมีพื้นที่อย่างเพียงพอที่ช้างจะสามารถลุกขึ้นยืน เดิน และลงนอนได้โดยสะดวก มีหลักหรือหมุด และอุปกรณ์มัดล่ามที่ปลอดภัย มีวิธีการควบคุมช้างให้อยู่ในบริเวณที่กำหนด การจัดการด้านสุขภาพอนามัย เจ้าของช้างต้องดำเนินการตามระบบป้องกันโรคระบาดและระบบควบคุมโรคระบาดในช้างตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558

การใช้ช้างเพื่อทำงานหรือเพื่อการแสดง ต้องคำนึงถึงสภาพร่างกายและจิตใจของช้าง โดยการใช้ช้างไว้ขี่เป็นพาหนะ ช้างที่ใช้ขี่แบบหลังเปล่า ต้องมีอายุตั้งแต่ 10 ปี จนถึง 60 ปี ช้างที่ใช้ขี่แบบนั่งแหย่ง ต้องมีอายุตั้งแต่ 15 ปี จนถึง 60 ปีการบรรทุกคนหรือสิ่งของ น้ำหนักบรรทุกรวมต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัวช้าง และไม่เกิน 350 กิโลกรัม กำหนดเวลาทำงานปกติไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน ระยะเวลาทำงานติดต่อกันแต่ละครั้งต้องไม่เกิน 1 ชั่วโมง กำหนดเวลาพักของช้างหลังทำงานแต่ละครั้งไม่น้อยกว่า 15 นาทีระยะเวลาการฝึกช้างเพื่อขี่เป็นพาหนะต้องไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมง การใช้ช้างเพื่อการชักลาก ช้างต้องมีอายุตั้งแต่ 25 ปี จนถึง 50 ปีน้ำหนักสำหรับการชักลาก ช้างหนึ่งเชือกต้องไม่เกินร้อยละ 50 ของน้ำหนักตัว สำหรับการใช้ช้างเพื่อการแสดง ช้างที่จะใช้ในการแสดงต้องมีอายุตั้งแต่ 3 ปี จนถึง 60 ปี ลักษณะการแสดงต้องไม่เป็นการแสดงที่มีผลกระทบต่อสวัสดิภาพของช้างหรืออาจก่อให้เกิดอันตรายต่อช้าง เช่น การให้ช้างยืนสองขา การยืน นั่ง หรือเดินบนอุปกรณ์ต่าง ๆ การขับขี่อุปกรณ์ล้อเลื่อน การใช้เสียงดัง เป็นต้น ระยะเวลาการฝึกช้างเพื่อการแสดงต้องไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมง การจัดการด้านพฤติกรรมตามธรรมชาติ ต้องจัดให้ช้างทุกตัวสามารถแสดงพฤติกรรมในการหาอาหาร การเดิน การเล่น การนอน การผสมพันธุ์ การสื่อสาร หรือปฏิสัมพันธ์กับช้างเชือกอื่น มีแผนจัดการกับช้างตกมันและช้างอาละวาดได้อย่างเหมาะสม การปฏิบัติต่อช้างต้องเป็นไปตามหลักวิธีการควบคุมบังคับช้าง ทั้งนี้ เจ้าของช้างต้องจัดให้มีควาญช้างอย่างเพียงพอสำหรับดูแลช้างแต่ละเชือกให้ได้รับการจัดสวัสดิภาพอย่างเหมาะสม 

ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การจัดสวัสดิภาพช้างในปางช้าง พ.ศ. 2563 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 18 ธันวาคม 2563 และให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป ผู้ประกอบการปางช้าง เจ้าของช้าง ควาญช้าง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรเตรียมความพร้อม ปรับปรุง พัฒนากิจการปางช้างให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อให้ช้างได้รับการดูแลและจัดสวัสดิภาพอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับมาตรฐานปางช้างและเป็นการยกระดับการจัดสวัสดิภาพช้างในปางช้างทั่วประเทศให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

ภาพปก