โควิด 19 สายพันธุ์ "โอมิครอน" (Omicron)

Script Writer
โชคสุข กรกิตติชัย, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2022-01
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 สายพันธุ์ "โอมิครอน" (Omicron) หรือบ้างก็เรียก "โอไมครอน" ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยด้วย โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศเตือนว่า เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล เนื่องจาก "โอมิครอน" มีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งที่อาจส่งผลต่อพฤติกรรมของเชื้อกลายพันธุ์ชนิดนี้ เช่น ความง่ายในการแพร่เชื้อ และแพร่กระจายเร็วแบบที่ไม่เคยพบในโควิด 19 สายพันธุ์ก่อน ๆ และมีความเป็นไปได้มากว่า อาจแพร่กระจายแล้วเกือบทุกประเทศทั่วโลก เพียงแต่ยังตรวจไม่พบ ส่วนการรับรู้เกี่ยวกับเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์ "โอมิครอน" ดูเหมือนจะขึ้นอยู่กับข้อมูลเบื้องต้นจากบางส่วนของแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นประเทศแรกที่รายงานต่อองค์การอนามัยโลกว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์ "โอมิครอน"

สำหรับอาการของผู้ติดเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์ "โอมิครอน" นั้น แม้ก่อนหน้านี้จะมีการเปิดเผยอาการสำคัญหลังจากติดโควิด 19 สายพันธุ์ "โอมิครอน" ซึ่งจะแตกต่างจากสายพันธุ์อัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา โดยสถาบันสุขภาพแห่งชาติอังกฤษ ระบุว่า อาการหลัก ๆ คือ 1) มีไข้สูง 2) ไอ และ 3) ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส แต่อาการเหล่านี้ พบว่า ความรุนแรงลดลง เมื่อเทียบกับผู้ที่ติดเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์อื่น ๆ ซึ่งปัจจุบันองค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีนกาวี (Gavil) โดยคณะผู้เชี่ยวชาญในแอฟริกาใต้ ได้สรุปอาการที่พบโดยกลุ่มแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยโควิด 19 สายพันธุ์ "โอมิครอน" ในแอฟริกาใต้เพิ่มเติม มีทั้งหมด 5 อาการ คือ 1) เจ็บคอ 2) ปวดกล้ามเนื้อเล็กน้อย 3) เหนื่อยมากกว่าปกติ 4) ไอแห้ง และ 5) เหงื่อออกตอนกลางคืนแม้นอนในห้องอากาศเย็น อย่างไรก็ตาม หากเป็นผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน อาการเหล่านี้ อาจจะทวีความรุนแรงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย และอาจจะต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลได้

ปัจจุบันสายพันธุ์ "โอมิครอน" เป็นไวรัสที่ติดต่อได้ง่ายที่สุดเป็นอันดับสองของโลกรองจากไวรัสหัด โดยในทางระบาดวิทยานั้น ค่า R0 (R-naught) เป็นค่าคำนวณบ่งชี้ความสามารถในการติดต่อโรคโดยเฉลี่ย ซึ่งหมายถึง จำนวนคนที่ติดเชื้อเพียงคนเดียวจะแพร่โรคนั้นได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ การคำนวณ "ความสามารถในการแพร่ระบาด" 

โดยเฉลี่ยของโรคไวรัส "หัด" ติดต่อกันได้ง่ายที่สุดในโลก โดยมีค่า R0 ประมาณ 15-18 
ไวรัสไข้หวัดใหญ่สเปน 1918 และไวรัสไข้หวัดใหญ่ปัจจุบันมีค่า R0 ประมาณ 2-3 
ไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ดั้งเดิม "อู่ฮั่น" มีค่า R0 ประมาณ 2.5 
ไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ "เดลตา" มีค่า R0 ประมาณ 6.5-8 
ไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ "โอมิครอน" มีค่า R0 ประมาณ 8-15 

กล่าวคือ ผู้ติดเชื้อโอมิครอนหนึ่งรายสามารถแพร่ติดต่อไปยังผู้อื่นอีก 8-15 คน โดยทั้ง 8-15 คนนั้น เป็นผู้ไม่เคยติดเชื้อและยังไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 มาก่อน ซึ่งจะมีน้อยมากในประเทศไทย เพราะประชากรกว่าร้อยละ 70 ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว ทั้งนี้ คาดว่าการระบาดของโควิด 19 สายพันธุ์ "โอมิครอน" น่าจะมีการกระจายไปแล้วเกือบทุกจังหวัดในประเทศไทย

สำหรับเรื่องวัคซีนนั้น ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า เชื้อไวรัสดื้อต่อวัคซีน แต่พบว่าคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว ยังสามารถติดเชื้อสายพันธุ์ "โอมิครอน" ได้ แต่มีอาการน้อยหรือแทบจะไม่แสดงอาการ ซึ่งวัคซีนยังคงได้ผลในแง่ของการป้องกันความรุนแรงของโรค แต่ลดประสิทธิภาพการป้องกันการติดเชื้อของวัคซีน ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาวัคซีนให้ทันกับการกลายพันธุ์ (Mutation) ในอนาคต และจะต้องมีการฉีดวัคซีนกันถี่มากยิ่งขึ้น เนื่องจากร่างกายต้องการระดับภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์นี้ โดยควรรับวัคซีนเข็มที่ 3 (Booster Dose) เร็วขึ้น จากเดิมกำหนดไว้ที่ 6 เดือน หลังจากได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 แล้ว มาเป็น 3 เดือน ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO)

องค์การอนามัยโลกและแพทย์ในประเทศไทยได้แนะนำแนวทางในการป้องกันการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ดังกล่าว ดังนี้ 
1) รับวัคซีนเมื่อถึงเวลา 
2) รักษาระยะห่างที่ปลอดภัยและหลีกเลี่ยงฝูงชน 
3) สวมหน้ากากอนามัย 
4) ไอ/จามเข้าไปในข้อศอกของตน 
5) เปิดหน้าต่างเพื่อระบายอากาศ 
6) ทำความสะอาดมือเป็นประจำด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำสบู่ และ 
7) รับประทานอาหาร 5 หมู่ ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายอยู่ตลอดเวลา

องค์การอนามัยโลกและองค์กรภาคีได้ทำงานร่วมกันเพื่อทำความเข้าใจถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นของการติดเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์ "โอมิครอน" นี้ ต่อมาตรการการรับมือที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงวัคซีน อย่างไรก็ตาม วัคซีนยังคงมีความสำคัญในการลดการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตจากสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในขณะนี้ได้ อย่างไรก็ตาม โควิด 19 ยังคงจะต้องอยู่กับเราไปอีกนาน และเราทุกคนจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของการยุติโรคระบาดโควิด 19 ด้วยการที่เราทุกคนจะต้องเข้ารับการฉีดวัคซีน แล้วเราจะผ่านวิกฤติโรคระบาดนี้ไปด้วยกัน

ภาพปก