ค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา

Script Writer
ศรันยา สีมา, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2019-10
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

การก่ออาชญากรรมเป็นการกระทำความผิดร้ายแรงที่มีผลกระทบต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน และการอยู่ร่วมกันโดยปกติสุขของประชาชนในสังคมซึ่งกฎหมายถือว่าเป็นความผิดอาญา ผู้กระทำความผิดต้องถูกฟ้องคดีต่อศาลและต้องถูกลงโทษ ในขณะเดียวกันผู้ที่ได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการกระทำความผิดอาญานั้นโดยที่ตนเองไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ก็ควรที่จะได้รับการเยียวยาความเสียหายจากผู้กระทำความผิดอาญานั้นด้วย แต่อย่างไรก็ตามในบางกรณีผู้กระทำความผิดมีฐานะยากจนไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะนำมาชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ หรือในบางกรณีรัฐเองก็ไม่สามารถจับกุมตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ ทำให้ผู้เสียหายไม่ได้รับความเป็นธรรม อีกทั้งจากแนวความคิดที่ว่ารัฐมีหน้าที่ในการคุ้มครองความปลอดภัยให้กับประชาชน เมื่อรัฐไม่สามารถควบคุมไมให้เกิดอาชญากรรมได้ รัฐจึงต้องรับผิดชอบเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการรับรองสิทธิของผู้เสียหายที่จะได้รับความช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา

พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคำตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา ทั้งในเรื่องคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน การยื่นขอรับคำตอบแทน และการจ่ายค่าตอบแทน โดยได้กำหนดคุณสมบัติของผู้เสียหายที่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนไว้ว่า ผู้นั้นต้องเป็นผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย จิตใจ หรือถึงแก่ความตายจากการกระทำความผิดอาญาของบุคคลอื่นในความผิดตามที่กฎหมายกำหนดคือ ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน เช่น วางเพลิงเผาทรัพย์ ทำให้เกิดระเบิด ความผิดเกี่ยวกับเพศ เช่น ข่มขืนกระทำอนาจาร ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย เช่น ทำร้ายร่างกาย ทำให้ถึงแก่ความตาย ทำให้แท้งลูก ความผิดฐานทอดทิ้งเด็ก คนป่วย หรือคนชรา ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง เช่น หน่วงเหนี่ยวหรือกักขัง ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ เช่น ลักทรัพย์ ปลันทรัพย์ และความผิดฐานบุกรุก โดยที่ผู้เสียหายนั้นจะต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้นด้วย

ค่าตอบแทนที่ผู้เสียหายในคดีอาญามีสิทธิจะได้รับแยกออกได้เป็น 2 กรณี คือ กรณีที่ผู้เสียหายได้รับความเสียหายไม่ถึงแก่ความตาย และกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย โดยค่ตอบแทนที่ผู้เสียหายจะได้รับในแต่ละกรณี มีดังนี้

กรณีผู้เสียหายได้รับความเสียหายไม่ถึงแก่ความตายจะได้รับค่าตอบแทนคือ ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 40,000 บาท (รวมค่าห้องและค่าอาหารในอัตราวันละไม่เกิน 1,000 บาท) ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 20,000 บาท (รวมค่าห้องและค่าอาหารในอัตราวันละไม่เกิน 1,000 บาท) ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในท้องที่จังหวัดที่ผู้เสียหายประกอบการงาน ณ วันที่ไม่สามารถประกอบการงานได้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ และค่าตอบแทนความเสียหายอื่นตามจำนวนที่คณะกรรมการพิจารณาค่ตอบแทนผู้เสียหายเห็นสมควร แต่ไม่เกิน 50,000 บาท

กรณีผู้เสียหายถึงแก่ความตายจะได้รับค่ตอบแทนคือ ค่าตอบแทนเป็นเงินตั้งแต่ 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ค่าจัดการศพ 20,000 บาท ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู ไม่เกิน 40,000 บาท และค่เสียหายอื่นตามจำนวนที่คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาเห็นสมควร แต่ไม่เกิน 40,000 บาท

การขอรับค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา ผู้เสียหายหรือทายาทของผู้เสียหายต้องยื่นคำขอพร้อมหลักฐานเพื่อขอรับคำตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญาภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการกระทำความผิดมิฉะนั้นจะเสียสิทธิไม่สามารถขอรับค่าตอบแทนได้ โดยสามารถยื่นคำขอได้ที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สำนักงานคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ 
พื้นที่ 1 (พระนครศรีอยุธยา) สำนักงานคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
พื้นที่ 2 (ชอนแก่น) สำนักงานคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ 
พื้นที่ 3 (เซียงใหม่) สำนักงานคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
พื้นที่ 4 (สงขลา) คลินิกยุติธรรมในสำนักงานยุติธรรมจังหวัดและสาขาทั่วประเทศ สถานีตำรวจทุกแห่งทั่วประเทศและสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ 
รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วนคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพหมายเลขโทรศัพท์ 1111 กด 77

ภาพปก