พระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562

Script Writer
วันวิภา สุขสวัสดิ์, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2019-09
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 46 ได้กำหนดรับรองว่า "สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง บุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค องค์กรของผู้บริโภคมีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ" พระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคพ.ศ. 2562 จึงเป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 22 พฤษภาคม 2562 และมีผลใช้บังคับ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2562 ซึ่งภายหลังจากที่กฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว การดำเนินการนับจากนี้จึงเป็นไปเพื่อการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคให้เกิดมีขึ้น

พระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 กำหนดให้องค์กรของผู้บริโภคทุกองค์กรมีสิทธิรวมตัวกันจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ ซึ่ง "องค์กรของผู้บริโภค" ตามที่กฎหมายกำหนดหมายถึง องค์กรที่ผู้บริโภคที่เป็นบุคคลธรรมดาตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปรวมตัวกันจัดตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองผู้บริโภคโดยไม่แสวงหากำไร ไม่ว่าการรวมตัวจัดตั้งนั้นจะเป็นรูปแบบใดและจะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ก็ตาม องค์กรของผู้บริโภคที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดและประสงค์จะเข้าร่วมจัดตั้งหรือเข้าเป็นสมาชิกของสภาองค์กรของผู้บริโภค ให้แจ้งสถานะความเป็นองค์กรไว้ต่อนายทะเบียน โดยกฎหมายกำหนดให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นนายทะเบียนกลางรับแจ้งสถานะความเป็นองค์กรของผู้บริโภคได้ทั่วราชอาณาจักรส่วนในต่างจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นนายทะเบียนประจำจังหวัด และเมื่อนายทะเบียนตรวจสอบแล้ว ให้ประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรือวิธีการอื่นใดที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก

องค์กรของผู้บริโภคไม่น้อยกว่า 150 องค์กร ที่ดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นที่ประจักษ์มาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี มีสิทธิเข้าชื่อกันแจ้งต่อทะเบียนกลางเพื่อเป็นผู้เริ่มก่อการในการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคและเมื่อแจ้งแล้วต้องรวบรวมองค์กรของผู้บริโภคที่ยินยอมเข้าร่วมในการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนองค์กรผู้บริโภคที่นายทะเบียนกลางประกาศรับแจ้งให้ครบภายใน 90 วัน เมื่อมีการประกาศจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นครั้งแรกหลังจากวันที่พระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ใช้บังคับ กฎหมายกำหนดให้รัฐบาลต้องจัดสรรเงินอุดหนุนไว้ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นทุนประเดิมเบื้องต้นให้แก่สภาองค์กรของผู้บริโภคที่จัดตั้งขึ้นเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 350 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเบื้องต้นในการดำเนินการและให้เกิดการรวมตัวกันขององค์กรของผู้บริโภคอย่างทั่วถึง หลังจากนั้นจึงจะเข้าสู่การจัดทำแผนงบประมาณภาครัฐต่อไป ขั้นตอนต่อไปตามที่กฎหมายกำหนด คือต้องมีการจัดทำร่างข้อบังคับของสภาองค์กรของผู้บริโภคและเรียกประชุมสมาชิกภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ประกาศการจัดตั้งในราชกิจจานุเบกษา

สภาองค์กรของผู้บริโภคที่จัดตั้งขึ้นนี้มีสถานะเป็นนิติบุคคลที่มีความเป็นอิสระ ทำหน้าที่และดำเนินงานตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ว่าจะเป็นการเสนอแนะนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภค รายงานการละเมิดสิทธิผู้บริโภค ตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาสินค้าและบริการ รวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลให้กับผู้บริโภค สนับสนุนการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค แจ้งเตือนภัยปัญหาให้กับผู้บริโภคช่วยเหลือประชาชนในการไกล่เกลี่ยประนีประนอมยอมความ ดำเนินคดีแทนผู้บริโภค โดยมีสิทธิในการฟ้องคดีทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา คดีปกครอง และคดีผู้บริโภคเช่นเดียวกับผู้เสียหาย การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคในครั้งนี้จึงนับว่าเป็นพัฒนาการก้าวสำคัญของการมีองค์กรของผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากภาครัฐโดยไม่ผูกขาดอยู่เฉพาะหน่วยงานของรัฐอย่างแท้จริง เป็นการสร้างกระบวนการในการรวมตัวกันของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคด้วยกันเอง สร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนที่เป็นผู้บริโภคโดยตรง โดยสภาองค์กรของผู้บริโภคจะเป็นกลไกหนึ่งที่จะผลักดันหรือสนับสนุนทั้งผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และภาครัฐ เพื่อนำไปสู่การคุ้มครองผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในการใช้สินค้าหรือบริการในขณะเดียวกันก็อาจส่งผลต่อภาคธุรกิจ โดยผู้ประกอบการจะมุ่งแข่งขันกันพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อให้สินค้าและบริการมีคุณภาพต่อผู้บริโภคต่อไป

ภาพปก