มาตรการควบคุมการใช้อาวุธปืนในประเทศไทย

Script Writer
คณาธิป ไกยชน, วิทยากรชำนาญการ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2022-12
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ปัญหาความรุนแรงเกี่ยวกับการใช้อาวุธปืน (Gun Violence) เป็นอีกหนึ่งสาเหตุการตายจากอาชญากรรมที่สำคัญของประเทศไทย จากข้อมูลขององค์การระหว่างประเทศด้านการวางแผนและนโยบายป้องกันการบาดเจ็บ (International Firearm Injury Prevention and Policy) พบว่า ในแต่ละวันทั่วโลกมีการใช้อาวุธปืนเพื่อก่ออาชญากรรมเป็นจำนวนมาก และจากข้อมูลของ World Population Review ได้เผยแพร่ผลสำรวจประเทศที่มีกรณีการเสียชีวิตด้วยอาวุธปืนมากที่สุดในโลก ประจำปี 2565 พบว่า ประเทศไทยติดอันดับที่ 15 ของโลก โดยมีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืน จำนวน 2,804 คน และมีอัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืนเฉลี่ย 3.91 คนต่อประชากร 1 แสนคน ผลกระทบจากการใช้อาวุธปืนได้ทวีความรุนแรงและสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนจำนวนมาก 
    
ประเทศไทยเริ่มมีการนำอาวุธปืนมาใช้ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น โดยในสมัยนั้นยังไม่มีกฎหมายควบคุมการใช้อาวุธปืนโดยตรง แต่ยังคงมีแนวคิดออกกฎหมายควบคุมการมีอาวุธปืนในครอบครองของบุคคลมาโดยตลอด จนกระทั่ง พ.ศ. 2477 ได้มีการประกาศใช้ “พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดและดอกไม้เพลิง พ.ศ. 2477” เพื่อกำหนดห้ามมิให้บุคคลมีอาวุธปืนและใช้เครื่องกระสุนปืนบางชนิด รวมทั้งกำหนดเกี่ยวกับการอนุญาตการใช้อาวุธปืนด้วย ซึ่งกฎหมายดังกล่าวบังคับใช้มาเป็นเวลา 13 ปี จึงได้มีการตรากฎหมายใหม่ คือ “พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490” โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2490 มาจนถึงปัจจุบันและได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาแล้ว 9 ครั้ง โดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว และให้กรมการปกครองมีหน้าที่รับผิดชอบในการบังคับใช้ ควบคุมและกำกับดูแลการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับอาวุธปืน รวมทั้งการนำเข้าการจำหน่ายอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน ตลอดจนการอนุญาต อนุมัติและการจำกัดอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนให้เป็นไปตามกฎหมาย

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ได้กำหนดให้ผู้ขอมีและใช้อาวุธปืนต้องเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติไม่ขัดต่อมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เช่น ต้องไม่เป็นบุคคลซึ่งต้องโทษจำคุกในกรณีต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด บุคคลซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ บุคคลซึ่งไม่สามารถใช้อาวุธปืนได้โดยกายพิการหรือทุพพลภาพ บุคคลซึ่งเป็นผู้ไร้ความสามารถ คนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ บุคคลซึ่งไม่มีอาชีพและรายได้ บุคคลซึ่งไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง บุคคลซึ่งมีความประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เป็นต้น โดยผู้ขอและใช้อาวุธปืนต้องมีภูมิลำเนาซึ่งบุคคลนั้นมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร และมีถิ่นที่อยู่ประจำในท้องที่ที่บุคคลนั้นขออนุญาตไม่น้อยกว่า 6 เดือน
    
สำหรับหลักเกณฑ์การขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืนตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มีรายละเอียดโดยสรุป คือ

  1. 1) บุคคลที่ประสงค์จะมีและใช้อาวุธปืนนั้น จะต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ตามที่กฎหมายกำหนด
  2. 2) การออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนนั้นให้ออกได้ 3 กรณี คือ สำหรับใช้ในการป้องกันตัวหรือทรัพย์สิน สำหรับใช้ในการกีฬา และสำหรับใช้ในการยิงสัตว์
  3. 3) ใบอนุญาตหนึ่งใบใช้สำหรับอาวุธปืนหนึ่งกระบอกเท่านั้น
  4. 4) อาวุธปืนที่ได้ออกใบอนุญาตจะต้องให้นายทะเบียนทำเครื่องหมายประจำอาวุธปืนนั้นด้วย
  5. 5) บุคคลที่จะออกใบอนุญาตให้ได้ ต้องเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติครบตามที่กฎหมายกำหนด
  6. 6) เจ้าพนักงานที่มีอำนาจออกใบอนุญาตให้แก่บุคคลที่ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน คือ อธิบดีกรมการปกครอง สำหรับในเขตกรุงเทพมหานครและทั่วราชอาณาจักร และผู้ว่าราชการจังหวัด สำหรับออกใบอนุญาตเฉพาะรายในเขตจังหวัดของตนเท่านั้น
  7. 7) ใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน มีกำหนดอายุตลอดเวลาที่ผู้รับใบอนุญาตเป็นเจ้าของอาวุธปืนนั้น
  8. 8) การที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้นั้นจะต้องเป็นไปตามกฎกระทรวงที่กำหนดประเภท ชนิด และขนาดของอาวุธปืน
  9. 9) หลังจากได้รับใบอนุญาตแล้ว บุคคลที่นายทะเบียนท้องที่อนุญาตยังต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดด้วย
  10. 10) กรณีที่มีการตรวจพบภายหลังว่า ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตไม่มีคุณสมบัติที่จะได้รับใบอนุญาตให้นายทะเบียนเพิกถอนใบอนุญาต โดยผู้ได้รับอนุญาตต้องส่งมอบอาวุธปืนและใบอนุญาต เพื่อนายทะเบียนดำเนินการโอนหรือขายทอดตลาด ทั้งนี้ หากบุคคลใดทำ ซื้อ มี ใช้ สั่ง หรือนำเข้าซึ่งอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนโดยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ 1–10 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000–20,000 บาท  

อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะมีมาตรการทางกฎหมายในการควบคุมการมีและใช้อาวุธปืนตามพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่ประชาชนยังสามารถมีและใช้อาวุธปืนได้อย่างกว้างขวาง ทั้งการนำอาวุธปืนไปก่อเหตุอาชญากรรมหรือนำไปใช้ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคม จนนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสถานการณ์ความรุนแรงที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์ จังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และต่อมาวันที่ 12 ตุลาคม 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานการประชุมเพื่อกำหนดแนวทางมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาวุธปืน ได้ให้ความเห็นชอบมาตรการเร่งด่วนเกี่ยวกับอาวุธปืน คือ ให้มีการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับอาวุธปืนและกระสุนปืนอย่างเข้มงวด ทั้งการออกใบอนุญาต การต่อใบอนุญาตและการพกพา ผู้ยื่นคำขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืนต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมาย มีการตรวจสอบและรับรองทางจิตว่าไม่เป็นผู้วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน โดยจะต้องได้รับการรับรองจากผู้บังคับบัญชา ผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ ว่าไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อสังคม และมีมาตรการตรวจสอบทบทวนเพื่อพิจารณาคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตในทุกรอบระยะเวลาที่เหมาะสม รวมถึงเพิกถอนใบอนุญาตพกพาอาวุธปืนเมื่อพบปัญหาทางจิต หรือมีการใช้ยาเสพติดและมีพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อสังคม ให้มีการกวาดล้างจับกุมอาวุธเถื่อนและการซื้อขายอาวุธปืนออนไลน์อย่างจริงจัง ตลอดจนทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีความทันสมัยต่อไป

ภาพปก