อิฐบล็อกดินซีเมนต์จากเถ้าชานอ้อยเพื่อลดโลกร้อน

Script Writer
ณิชชา บูรณสิงห์, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2022-07
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารและพืชผลทางการเกษตรที่สำคัญของโลก ปัจจุบันมีการนำผลิตภัณฑ์เกษตรมาเป็นวัตถุดิบพื้นฐานของอุตสาหกรรมหลายประเภท โดยเฉพาะอ้อยที่นำมาผลิตเป็นน้ำตาล และส่วนที่เหลือ คือ ชานอ้อย ซึ่งไม่ได้ใช้ประโยชน์ใด ๆ ส่วนใหญ่ถูกกำจัดโดยการทิ้งหรือเผา การเผาทำให้เกิดปัญหามลภาวะทางอากาศ ส่งผลทำให้เกิดหมอกควัน ฝุ่นละออง PM2.5 และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ Co2 ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน และก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน จึงมีการนำชานอ้อยมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงให้ความร้อนในการผลิตกระแสไฟฟ้า เมื่อผ่านกระบวนการเผาไหม้แล้วจะเหลือเป็นเถ้าชานอ้อย ส่งผลให้เกิดปัญหามลภาวะทางอากาศและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการกำจัด เถ้าชานอ้อยที่เหลือจากกระบวนการเผาจะถูกนำไปกองทิ้ง ทำให้เกิดฝุ่นผงขนาดเล็กฟุ้งกระจายส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนโดยรอบพื้นที่ ดังนั้น หากมีการนำเถ้าชานอ้อยมาใช้ประโยชน์ในการผลิตคอนกรีต โดยเป็นส่วนผสมทดแทนปูนซีเมนต์บางส่วน หรือทั้งหมดสำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้างจะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้ปูนซีเมนต์ได้

เมื่อ พ.ศ. 2562 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณรงค์ชัย วิวัฒนาช่าง รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ได้จัดทำโครงการวิจัยเรื่อง “ผลิตภัณฑ์อิฐบล็อกดินซีเมนต์แบบมาตรฐานจากส่วนผสมของเถ้าชานอ้อย” ซึ่งมีวัตถุประสงค์ คือ มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้เถ้าชานอ้อย และช่วยแก้ไขปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อมของชุมชนโดยรอบพื้นที่โรงผลิตกระแสไฟฟ้าชีวมวล โดยนำเถ้าชานอ้อยจากเตาเผาโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้และเป็นปอซโซลาน (Pozzolan) (ปอซโซลานเป็นวัสดุที่มีส่วนประกอบทางเคมีส่วนใหญ่เป็นซิลิกา หรือซิลิกาและอะลูมินา ที่มีคุณสมบัติในการยึดประสานเล็กน้อยหรือไม่มีเลย แต่เมื่อบดจนเป็นผงละเอียดจะสามารถทําปฏิกิริยากับแคลเซียมไฮดรอกไซด์หรือปูนขาวที่อุณหภูมิปกติ และเมื่อมีความชื้นจะเกิดเป็นสารประกอบ ซึ่งมีคุณสมบัติในการยึดประสาน) หากนำมาเป็นส่วนผสมของอิฐบล็อกร่วมกับสารเคมีอื่นจะช่วยปรับปรุงคุณภาพของคอนกรีตให้ดีขึ้น นอกจากนี้ เถ้าชานอ้อยมีคุณสมบัติทางกายภาพที่ดี มีราคาถูก สามารถนำมาพัฒนาเป็นส่วนผสมคอนกรีตเพื่อการผลิตเป็นวัสดุก่อสร้างประเภทต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะการนำมาผลิตเป็นอิฐบล็อกทดแทนการใช้คอนกรีตบล็อกที่มีจำหน่ายทั่วไป ซึ่งอิฐบล็อกชนิดนี้มีความแข็งแรงไม่แตกหักง่าย ใช้เป็นฉนวนกันความร้อนได้ดี ความทนทานสูงกว่า และราคาใกล้เคียงกับคอนกรีตในตลาด จึงใช้ก่อเป็นผนังรับน้ำหนักสำหรับการก่อสร้างบ้านปกติ ซึ่งเป็นทางเลือกในการพัฒนาชุมชนให้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติท้องถิ่น และวัสดุที่ไม่ต้องการ ดังนั้น หากมีการพัฒนาอิฐบล็อกชานอ้อยให้มีคุณภาพดีขึ้น และสร้างเป็นธุรกิจผลิตอิฐบล็อกที่มีประสิทธิภาพให้กับประชาชนหรือเอกชนที่สนใจ จะก่อให้เกิดการสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ และช่วยแก้ไขปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อมในชุมชนโดยรอบได้

ดังนั้น การนำเถ้าลอยชานอ้อยของเหลือทิ้งจากการเผาของโรงไฟฟ้าชีวมวลมาผลิตเป็นอิฐบล็อกดินซีเมนต์จากเถ้าชานอ้อย ซึ่งสามารถใช้ทดแทนปูนซีเมนต์ และเป็นส่วนประกอบสำคัญของคอนกรีตที่มีราคาสูง และการผลิตปูนซีเมนต์ยังก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ อิฐบล็อกดินซีเมนต์จากเถ้าชานอ้อยเป็นนวัตกรรมใหม่ เพื่อใช้ทดแทนซีเมนต์ในอุตสาหกรรมการก่อสร้างในปัจจุบัน และเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถช่วยป้องกัน และลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากเถ้าชานอ้อย รวมถึงทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการหาพื้นที่ในการฝังกลบ รวมถึงเป็นการเพิ่มมูลค่าจากของเสียในกระบวนการผลิตจากภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม ทำให้ประเทศไทยลดการใช้ปูนซีเมนต์ปีละหลายล้านตัน สิ่งสำคัญ คือ ลดการเกิดหมอกควัน ฝุ่นละออง PM2.5 และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ Co2 ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน และไม่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อน (Global Warming) ด้วย

ภาพปก