อัตราดอกเบี้ยนโยบาย

Script Writer
อานันท์ เกียรติสารพิภพ, นิติกรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2022-07
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

“อัตราดอกเบี้ยนโยบาย” หมายถึง อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางจ่ายให้กับธนาคารพาณิชย์ที่นำเงินมาฝากไว้กับธนาคารกลาง หรืออัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางเรียกเก็บจากธนาคารพาณิชย์ที่กู้เงินจากธนาคารกลางซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายนี้จะส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์จะเรียกเก็บจากลูกค้าที่เป็นผู้กู้หรือชำระให้แก่ผู้ฝากเงินต่อไป โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นจะถูกกำหนดโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ เป็นอัตราดอกเบี้ยที่สำคัญที่สุดโดยจะส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยอื่น ๆ ในระบบเศรษฐกิจ

โดยปกติเมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะธนาคารกลางของประเทศไทยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารพาณิชย์ก็จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ ในทางกลับกันเมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารพาณิชย์จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอื่นอีกที่อาจส่งผลให้การปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ไม่สอดคล้องกับการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น ความต้องการเงินกู้ ปริมาณเงินฝาก อัตราเงินเฟ้อ และต้นทุนในการดำเนินการของธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น   

การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นจะส่งผลต่อการใช้จ่ายของประชาชน ซึ่งการใช้จ่ายของประชาชนจะส่งผลต่อราคาของสินค้าหรือบริการโดยรวมหรือที่เรียกว่า “อัตราเงินเฟ้อ” แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะไม่มีผลโดยตรงต่ออัตราเงินเฟ้อ แต่การที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายมีผลต่อแรงจูงใจในการ “ฝากเงิน” และ “กู้เงิน” จึงทำให้การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อ โดยการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทำให้เงินเข้าสู่ระบบธนาคารมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจลดลงและขาดสภาพคล่อง นำไปสู่การปรับลดระดับราคาสินค้าและบริการ ท้ายที่สุดจึงทำให้อัตราเงินเฟ้อต่ำลง

อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลอย่างไรกับประชาชนนั้นขึ้นอยู่กับว่าประชาชนอยู่ในสถานะผู้กู้เงินหรือผู้ฝากเงิน เนื่องจากการปรับลดหรือเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารกลางเรียกเก็บจากธนาคารพาณิชย์จะส่งผลต่อแนวโน้มในการกู้เงิน แนวโน้มในการฝากเงิน ตลอดจนแนวโน้มในการนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า เช่น หุ้นหรืออสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้ราคาหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้น ผู้ที่ถือครองสินทรัพย์จึงมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายเพิ่มขึ้นด้วย กล่าวคือ เมื่อใดที่ค่าครองชีพสูงหรือเกิดภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรง การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะถือเป็นหนึ่งในวิธีการที่สามารถนำมาใช้แก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวได้ 

โดยสรุปเมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับลดลงประชาชนก็จะใช้จ่ายมากขึ้น และเมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นประชาชนก็จะใช้จ่ายน้อยลง ซึ่งการใช้จ่ายของประชาชนย่อมส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการตามหลักอุปสงค์และอุปทาน ดังนั้น หากต้องการให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมาย จะต้องประเมินว่าประชาชนมีแนวโน้มจะใช้จ่ายเท่าไรแล้วจึงกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสม หากประชาชนใช้จ่ายน้อยเกินไป ราคาสินค้าและบริการก็จะปรับลดลง ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวและภาวะการจ้างงานลดลง ในกรณีนี้ ธนาคารกลางอาจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวดีอีกครั้ง และหากประชาชนใช้จ่ายมากเกินไป ราคาสินค้าและบริการก็จะปรับเพิ่มขึ้นสูง ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตรวดเร็วเกินไปซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาตามมา เช่น ภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้นมากหรือเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้ราคาสินทรัพย์ลดลงอย่างรวดเร็ว ในกรณีนี้ ธนาคารกลางอาจเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อชะลอการใช้จ่ายและช่วยให้เศรษฐกิจไม่เติบโตรวดเร็วเกินไปจนส่งผลให้เกิดปัญหาตามมาในที่สุด ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงมีความสำคัญและถูกใช้เป็นเครื่องมือกำกับดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นการลงทุนหรือชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจที่มากเกินไปในแต่ละช่วงเวลา 
 

ภาพปก