การชันสูตรพลิกศพ

Script Writer
ศรันยา สีมา, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2022-05
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

“การชันสูตรพลิกศพ” เป็นกระบวนการค้นหาความจริงในกรณีที่มีการตายเกิดขึ้นว่าผู้ตายเป็นใคร เกิดขึ้นจากสาเหตุใด ซึ่งหากการตายเกิดจากการกระทำความผิดอาญาแล้วก็จะต้องมีการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำความผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อไป

การชันสูตรพลิกศพในประเทศไทยเริ่มปรากฏให้เห็นชัดเจนในกฎหมายตราสามดวงโดยกำหนดให้นายพะทำมะรงไปดูศพเมื่อมีราษฎรทะเลาะวิวาทตีฟันแทงกันถึงตาย แต่ก็ยังไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการชันสูตรพลิกศพเอาไว้ ต่อมาจึงได้มีการตราพระราชบัญญัติชันสูตรพลิกศพ พ.ศ. 2457 ขึ้นเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การชันสูตรพลิกศพให้เหมาะสมกับกาลสมัย และได้ถูกยกเลิกไปเมื่อมีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 

หลักเกณฑ์การชันสูตรพลิกศพตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้รับการปรับปรุงมาหลายครั้ง เพื่อให้การชันสูตรพลิกศพมีมาตรฐาน โปร่งใส น่าเชื่อถือ เนื่องจากการชันสูตรพลิกศพในคดีอาญาถือเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวน ซึ่งหากการชันสูตรพลิกศพยังไม่แล้วเสร็จจะฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลไม่ได้ ทั้งนี้ การตายที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการชันสูตรพลิกศพนั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 กรณี คือ 1) การตายโดยผิดธรรมชาติ ได้แก่ ฆ่าตัวตาย ถูกผู้อื่นทำให้ตาย ถูกสัตว์ทำร้ายตาย ตายโดยอุบัติเหตุ ตายโดยยังไม่ปรากฏเหตุ และ 2) การตายที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานหรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ เว้นแต่ตายโดยการประหารชีวิตตามกฎหมาย

ในการชันสูตรพลิกศพต้องดำเนินการ ณ สถานที่พบศพ โดยพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ต้องดำเนินการร่วมกับแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ แต่หากแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้แพทย์ประจำโรงพยาบาลของรัฐ แพทย์ประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด แพทย์ประจำโรงพยาบาลของเอกชนหรือแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ขึ้นทะเบียนเป็นแพทย์อาสาสมัครตามระเบียบของกระทรวงสาธารณสุขร่วมชันสูตรพลิกศพ ตามลำดับ แต่หากเป็นกรณีการตายที่เกิดจากการวิสามัญฆาตกรรม คือ ความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานหรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่แล้ว พนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองตำแหน่งตั้งแต่ระดับปลัดอำเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ต้องเป็นผู้ชันสูตรพลิกศพร่วมกับพนักงานสอบสวนและแพทย์ด้วย

การชันสูตรพลิกศพมี 2 วิธี คือ 1) การตรวจศพภายนอก (Post-mortem examination) และ 2) การผ่าศพตรวจภายใน (Autopsy) กล่าวคือ เมื่อได้รับแจ้งว่ามีผู้พบศพ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะเข้าตรวจสอบสถานที่พบศพและสภาพศพ หากพบว่าเป็นการตายโดยผิดธรรมชาติก็จะแจ้งไปยังแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ให้มาร่วมชันสูตรพลิกศพเพื่อสันนิษฐานสาเหตุและพฤติการณ์การตาย แต่หากการตรวจศพภายนอกยังไม่สามารถระบุสาเหตุและพฤติการณ์การตายได้หรือมีข้อสงสัยหรือเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการผ่าชันสูตรศพก็จะส่งศพไปผ่าตรวจศพภายในต่อไป ซึ่งในขั้นตอนการผ่าศพนี้จะมีการตรวจบันทึกบาดแผลภายนอกที่สำคัญ ตรวจพยาธิสภาพของอวัยวะภายใน เก็บชิ้นเนื้อ เลือด และสารคัดหลั่งเพื่อตรวจหาสารพิษ สารเสพติด สารพันธุกรรมในห้องปฏิบัติการ และเมื่อได้รับผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการแล้ว แพทย์ทางนิติเวชศาสตร์จะสรุปสาเหตุการตายและจัดทำรายงานการชันสูตรพลิกศพส่งให้พนักงานสอบสวนใช้ประกอบการทำสำนวนชันสูตรพลิกศพเสนอต่อพนักงานอัยการต่อไป

เมื่อพนักงานอัยการตรวจสำนวนชันสูตรพลิกศพแล้วปรากฎว่า ความตายไม่ได้เป็นผลจากการกระทำความผิดอาญาก็ให้ส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อสั่งยุติคดี แต่หากความตายเป็นผลจากการกระทำความผิดอาญาแล้ว การชันสูตรพลิกศพถือเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวน พนักงานสอบสวนต้องส่งสำนวนการสอบสวนซึ่งมีสำนวนชันสูตรพลิกศพรวมอยู่ด้วยไปยังพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาสั่งคดีต่อไป สำหรับกรณีวิสามัญฆาตกรรมนั้นมีขั้นตอนปฏิบัติเพิ่มเติม คือ พนักงานอัยการต้องเข้าร่วมกับพนักงานสอบสวนทำสำนวนชันสูตรพลิกศพให้เสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวน และเมื่อมีการทำสำนวนชันสูตรพลิกศพเสร็จแล้ว ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อไต่สวนการตายด้วย เพื่อตรวจสอบกระบวนการชันสูตรพลิกศพและคุ้มครองสิทธิของผู้ตายรวมทั้งญาติของผู้ตายให้ได้รับความเป็นธรรมจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเมื่อศาลได้ไต่สวนการตายแล้วศาลจะทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด รวมทั้งเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย หากตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวด้วยว่าใครเป็นผู้ทำร้ายเท่าที่จะทราบได้ ทั้งนี้ เมื่อศาลได้มีคำสั่งแล้วก็จะส่งสำนวนการไต่สวนของศาลไปยังพนักงานอัยการเพื่อส่งแก่พนักงานสอบสวนดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

การชันสูตรพลิกศพเป็นการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในกระบวนการยุติธรรมเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่า การชันสูตรพลิกศพยังไม่ได้รับความสำคัญเท่าที่ควร ทำให้เกิดความคลางแคลงใจของสังคมขึ้นในบางกรณี ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรให้ความสำคัญกับการชันสูตรพลิกศพให้มากขึ้น เพราะไม่เพียงแต่จะทำให้ผู้เสียชีวิตและญาติของผู้ตายได้รับความเป็นธรรมเท่านั้น ยังส่งผลถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประชาชนโดยรวมด้วย

ภาพปก