BCG กับการเกษตรที่ยั่งยืน

Script Writer
พรรณทิภา นิลโสภณ, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-01
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ในอดีตที่ผ่านมาประเทศไทยมีทรัพยากรของประเทศอย่างอุดมสมบูรณ์ แต่ด้วยจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นประกอบกับการใช้ทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม รวมทั้งการแข่งขันทางการค้าได้ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของทรัพยากรของโลก รัฐบาลจึงตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จึงกำหนดวิสัยทัศน์ว่า “ประเทศไทยมี ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – พ.ศ. 2580) เป็นยุทธศาสตร์ชาติฉบับแรกของประเทศไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งสำหรับการพัฒนาภาคการเกษตรเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และรัฐบาลได้กำหนดนโยบายในการผลักดันเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยอาศัยหลักการของโมเดล BCG ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ โมเดล Bio-Circular-Green เรียกย่อ ๆ ว่า “โมเดล BCG” โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรมประสบปัญหาที่ยังไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มของทรัพยากรได้อย่างเต็มที่ การนำโมเดล BCG มาใช้จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภาคการเกษตรจากเดิมที่ผลิตมาก แต่สร้างรายได้น้อยไปสู่การผลิตน้อยแต่สร้างรายได้มาก

BCG คือ โมเดลทางเศรษฐกิจใหม่ด้วยการนำเอาเทคโนโลยี นวัตกรรม และวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยในการขับเคลื่อนประเทศให้พัฒนาต่อยอดทิศทางแบบก้าวกระโดด และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการพัฒนาแบบองค์รวม โดยที่เน้นการสร้างเศรษฐกิจรูปแบบ 3 มิติ ขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กัน ดังนี้

B : Bio Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพที่จะเน้นทางด้านความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีมาพัฒนาต่อไป โดยเป็นการต่อยอดความเข้มแข็งทางทรัพยากรชีวภาพ หรือผลผลิตที่มีทางการเกษตรแล้วนำไปเพิ่มมูลค่าสินค้า เช่น การพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีธาตุอาหารสูง

C : Circular Economy หรือการนำทรัพยากรที่มีอยู่แล้วมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด ส่งเสริมการใช้ซ้ำ และให้ความสำคัญกับการจัดการของเสียจากการผลิตและบริโภค ด้วยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตและบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพเพื่อกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งต่างจากระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม ที่เน้นการใช้ทรัพยากร การผลิต และการสร้างของเสีย 

G : Green Economy หรือการมุ่งเน้นช่วยเกษตรกรลดผลกระทบแบบยั่งยืน ที่จะเน้นด้านเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การเลือกใช้สารชีวภัณฑ์มากำจัดแมลงศัตรูพืชแทนการใช้สารเคมี หรือการฟอกกระดาษด้วยเอนไซม์จากจุลินทรีย์ 

การขับเคลื่อนภาคการเกษตรด้วยโมเดล BCG มีเป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรของประเทศไทยไปสู่ 3 สูง ได้แก่ ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และรายได้สูง ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมผสานภูมิปัญญา ยกระดับผลผลิตเกษตรสู่มาตรฐานสูง ครอบคลุมทั้งด้านคุณภาพ ความปลอดภัย ระบบการผลิตที่ยั่งยืนเพื่อให้ภาคการเกษตรเติบโตอย่างสมดุลและมีเสถียรภาพ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางการเกษตรอย่างสมดุลและยั่งยืน ซึ่งมีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาโดยอาศัยกรอบความคิดที่มองการพัฒนาเป็นมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้มีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งใช้เป็นทิศทางการพัฒนาตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2558 ถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2573 ประกอบด้วย 17 เป้าหมาย โดยองค์การสหประชาชาติแบ่งออกเป็น 5 มิติ ได้แก่ มิติสังคม มิติเศรษฐกิจ มิติสิ่งแวดล้อม มิติสันติภาพและสถาบัน และมิติหุ้นส่วนการพัฒนา ทั้งนี้ ในส่วนของมิติสังคมมีเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรคือ เป้าหมายที่ 2 ขจัดความหิวโหย (Zero Hunger) คือ การขจัดความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการและส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน โดยมุ่งขจัดความหิวโหยในหลายเรื่อง เช่น การเข้าถึงอาหารที่เพียงพอและมีคุณค่าทางโภชนาการ การยุติภาวะทุพโภชนาการ การเพิ่มผลิตภาพ การเข้าถึงทรัพยากรและโอกาสต่าง ๆ ของเกษตรกรรายย่อย เป็นต้น ปัจจุบันการเติบโตของเศรษฐกิจและผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้น ทำให้การขาดแคลนอาหารลดลง เป้าหมายนี้จึงคืบหน้าไปค่อนข้างมาก 

ดังนั้น การนำโมเดล BCG มาขับเคลื่อนภาคการเกษตรเพื่อปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรของประเทศไทยสู่ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง รายได้สูง ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมผสานภูมิปัญญา ยกระดับผลผลิตเกษตรสู่มาตรฐานสูง ครอบคลุมทั้งด้านคุณภาพ โภชนาการ ความปลอดภัย และระบบการผลิตที่ยั่งยืน จะส่งผลให้การทำเกษตรเป็นอาชีพที่สร้างรายได้สูง เพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตรให้สูงขึ้นสามารถกำหนดราคาขายได้ตามคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร จึงส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ Gross Domestic Product (GDP) ภาคเกษตรเติบโตอย่างสมดุลและมีเสถียรภาพ โดยจะส่งผลให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทาง Sustainable Development Goals (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติเพื่อการพัฒนาที่สมดุลกันใน 3 เสาหลักของมิติความยั่งยืนนั่นคือ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

ภาพปก