ปลาหมอสีคางดำ: ภัยร้ายจากปลาต่างถิ่น

Script Writer
สุภัทร คำมุงคุณ, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2024-07
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

ปลาหมอคางดำหรือปลาหมอสีคางดำ (Blackchin tilapia) เป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกามีลักษณะภายนอกคล้ายกับปลาหมอเทศ แต่เมื่อโตเต็มวัยจะสังเกตเห็นใต้ขากรรไกรล่างมีสีดำ มีความยาว 20-28 เซนติเมตร พบได้ทั่วไปในน้ำจืดและน้ำกร่อยและสามารถอาศัยอยู่ในน้ำเค็มช่วงกว้าง 0-45 ppt ปลาชนิดนี้สามารถผสมพันธุ์วางไข่ได้ตลอดทั้งปี โดยแม่ปลา 1 ตัว สามารถวางไข่ได้ประมาณ 50-300 ฟอง หรือมากกว่าโดยขึ้นกับขนาดของแม่ปลา 

ปลาหมอคางดำกินอาหารได้แทบทุกชนิดทั้งพืชและสัตว์ สัตว์น้ำวัยอ่อน แพลงตอน รวมถึงซากของสิ่งมีชีวิตและสามารถขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังมีความสามารถในการปรับตัวให้ทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้เป็นอย่างดี เมื่อแพร่กระจายในแหล่งน้ำธรรมชาติและบ่อเลี้ยงจะแย่งอาหาร และที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำประจำถิ่น โดยทำลายแหล่งวางไข่และกินสัตว์น้ำวัยอ่อนประจำถิ่น ทำให้จำนวนสัตว์น้ำประจำถิ่นลดลง นอกจากนี้ ยังมีรายงานที่รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ในปี 2534 ว่าปลาหมอคางดำเป็นแหล่งแพร่กระจายการติดเชื้อราไปยังปลาชนิดอื่น

ประเทศไทยได้มีการนำเข้าปลาหมอคางดำเมื่อปี 2553 เพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงพันธุ์ อย่างไรก็ตาม มีรายงานพบการแพร่กระจายปลาหมอสีคางดำหลุดรอดเข้าบ่อเลี้ยงของเกษตรกรในเขตพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม เพชรบุรี สมุทรสาคร ราชบุรี ประจวบคิรีขันธ์ และชุมพร จึงได้มีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง พ.ศ. 2561 ห้ามมิให้บุคคลใดนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยงปลา 3 ชนิด ได้แก่ ปลาหมอสีคางดำ ปลาหมอมายัน และปลาหมอบัตเตอร์ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมประมงหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมประมงมอบหมาย เพื่อประโยชน์ในการป้องกันอันตราย มิให้เกิดแก่สัตว์น้ำและระบบนิเวศ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2561 ซึ่งประกาศฉบับดังกล่าว มีแนวทางปฏิบัติที่สำคัญ ดังนี้ 

  1. 1. กรณีที่เกษตรกรที่เลี้ยงปลาทั้ง 3 ชนิดในบ่อเพาะเลี้ยง ให้รีบนำปลาดังกล่าวส่งมอบให้เจ้าหน้าที่กรมประมงโดยด่วน 
  2. 2. กรณีที่ประชาชนทำการประมงแล้วได้ปลาทั้ง 3 ชนิดนี้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ประชาชนสามารถนำไปบริโภคหรือจำหน่ายได้ แต่ควรทำให้ปลาตายก่อนนำไปจำหน่าย
  3. 3. กรณีที่ปลาทั้ง 3 ชนิดจากธรรมชาติหลุดรอดเข้าในบ่อเพาะเลี้ยงของเกษตรกรโดยไม่เจตนา เกษตรกรสามารถนำไปบริโภคหรือจำหน่ายได้ แต่ควรทำให้ปลาตายก่อนนำไปจำหน่าย
  4. 4. กรณีส่วนราชการ สถาบันการศึกษา หรือกรณีจำเป็นอื่นใดที่เพาะเลี้ยงปลาทั้ง 3 ชนิดไว้เพื่อศึกษาวิจัยและประโยชน์ทางราชการให้แจ้งขออนุญาตกรมประมง
  5. 5. ห้ามผู้ใดปล่อยปลาทั้ง 3 ชนิด ลงในที่จับสัตว์น้ำโดยเด็ดขาด เนื่องจากมีความผิดตามมาตรา 144 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 โดยบทลงโทษหากพบผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 64 หรือมาตรา 65 วรรคสองต้องระวางโทษตามมาตรา 144 จำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งนำสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดปลาหมอสีคางดำยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องและขยายเป็นวงกว้าง จากข้อมูลวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 พบการระบาดปลาหมอสีคางดำในพื้นที่กว่า 14 จังหวัด ตามบริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ จันทบุรี ระยอง สมุทรปราการ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และชลบุรี ส่งผลกระทบเชิงเศรษฐกิจต่อภาคการประมงและความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศ 

จากผลกระทบที่เกิดจากปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอสีคางดำดังกล่าวสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ภาครัฐจึงได้กำหนดมาตรการป้องกันและกำจัดปลาหมอสีคางดำ 5 มาตรการสำคัญ ประกอบด้วย

  1. 1) การควบคุมและกำจัดปลาหมอสีคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการระบาด
  2. 2) การปล่อยปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพงขาว และปลาอีกง เพื่อกำจัดปลาหมอสีคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ
  3. 3) การนำปลาหมอสีคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ เช่น ทำปลาป่น แปรรูปเป็นหลายเมนู
  4. 4) การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายปลาหมอสีคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติตามพื้นที่กันชนต่าง ๆ และ
  5. 5) การประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักรู้ และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอสีคางดำให้กับทุกภาคส่วน

ตลอดจนกรมประมงได้มีโครงการวิจัยเรื่องการเหนียวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอสีคางดำ เพื่อควบคุมการแพร่ขยายพันธุ์ของปลาหมอสีคางดำด้วยหลักการทางพันธุศาสตร์ อีกทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มีการปรึกษาหารือต่อที่ประชุมสภา และตั้งกระทู้ถาม รวมถึงการเสนอญัตติ เพื่อติดตามและเร่งรัดการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งน้ำธรรมชาติ

ภาพปก