กองทุนประกันสังคม

Script Writer
นรากร นันทไตรภพ, วิทยากรชำนาญการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2024-11
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

แรงงานเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ซึ่งรัฐบาลได้สร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตในระบบประกันสังคมให้กับแรงงาน ด้วยการเฉลี่ยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน ผ่านกองทุนประกันสังคม ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แบ่งออกเป็น 

  1. 1. ผู้ประกันตนกรณีเป็นลูกจ้างในสถานประกอบการ มาตรา 33 
  2. 2. ผู้ประกันตนกรณีสมัครใจ มาตรา 39 (เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33) และ 
  3. 3. ผู้ประกันตนกรณีผู้ประกอบอาชีพอิสระ มาตรา 40 

โดยแต่เดิมแรงงานที่มีสถานะเป็นลูกจ้างที่มีนายจ้างได้รับความคุ้มครอง จากกองทุน เงินทดแทนซึ่งให้ความคุ้มครองเพียงกรณีที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ด้วยโรคอันเนื่องมาจากการทำงานตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2515 โดยให้ความคุ้มครองเฉพาะสถานประกอบการที่มี ลูกจ้าง 20 คนขึ้นไป ในเขตกรุงเทพมหานคร และได้ขยายความคุ้มครองออกไปจนครบทุกจังหวัด ใน ปี พ.ศ. 2531 ต่อมาได้มีการตราพระราชบัญญัติเงินทดแทนขึ้น ใน ปี พ.ศ. 2537 แต่เพื่อให้แรงงานได้รับความคุ้มครองอย่างเป็นระบบเต็มรูปแบบในเวลาต่อมา จึงมีการผลักดันให้มีการตราพระราชบัญญัติประกันสังคมขึ้น ใน ปี พ.ศ. 2533 ซึ่งในปัจจุบันนายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปต้องขึ้นทะเบียนนายจ้างภายใน 30 วันนับจากวันที่ลูกจ้างเข้าทำงาน สำหรับลูกจ้างให้ขึ้นทะเบียนลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างเข้าทำงาน โดยนายจ้างและลูกจ้างต้องนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน ฝ่ายละเท่ากันในอัตราร้อยละ 5 ของค่าจ้าง โดยรัฐบาลสมทบเงินเข้ากองทุนด้วยส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ ซึ่งลูกจ้างจะมีสิทธิในกองทุนประกันสังคม ดังนี้ 

  1. 1. ผู้ประกันตนกรณีเป็นลูกจ้างในสถานประกอบการ มาตรา 33 ได้รับสิทธิประโยชน์ 7 กรณี คือ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน 
  2. 2. ผู้ประกันตนกรณีสมัครใจ มาตรา 39 (เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33) ได้รับสิทธิประโยชน์ 6 กรณี คือ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร และชราภาพ 
  3. 3. ผู้ประกันตนกรณีผู้ประกอบอาชีพอิสระมาตรา 40 ได้รับสิทธิประโยชน์ ดังนี้ 
  • ทางเลือกที่ 1 จ่ายเงินสมทบ 70 บาทต่อเดือน ได้รับสิทธิประโยชน์ 3 กรณี คือ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ และตาย 
  • ทางเลือกที่ 2 จ่ายเงินสมทบ 100 บาทต่อเดือน ได้รับสิทธิประโยชน์ 4 กรณี คือ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย และชราภาพ และ
  • ทางเลือกที่ 3 จ่ายเงินสมทบ 300 บาทต่อเดือน ได้รับสิทธิประโยชน์ 5 กรณี คือ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย ชราภาพ และสงเคราะห์บุตร

ทั้งนี้ กองทุนประกันสังคมเริ่มดำเนินการจัดเก็บเงินสมทบจากนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล ตั้งแต่ พ.ศ. 2534 โดยสถานะเงินกองทุนประกันสังคม ณ สิ้นสุดไตรมาสที่ 1 ของปี พ.ศ. 2567 มีจำนวน 2,603,245 ล้านบาท ดังนี้

  1.     1. เงินกองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทน 4 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ และตายจำนวน 136,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.22
  2.     2. เงินกองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทน 2 กรณี ได้แก่ สงเคราะห์บุตร และชราภาพ จำนวน 2,270,692 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 87.23
  3.     3. เงินกองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน จำนวน 171,129 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.57
  4.     4. เงินกองทุนในส่วนของผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 25,425 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.98

โดยที่กองทุนประกันสังคมมีรายรับหลักเข้ากองทุนจาก 3 แหล่งด้วยกัน ได้แก่ เงินสมทบรับ ผลตอบแทนจากการลงทุน และรายได้อื่น ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี พ.ศ. 2567 กองทุนมีรายรับรวม 100,862 ล้านบาท จำแนกเป็น รายรับจากเงินสมทบ จำนวน 43,886 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43.51 ของรายรับทั้งหมด ผลตอบแทนจากการลงทุน จำนวน 54,862 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 54.39 ของรายรับทั้งหมด และรายได้อื่น ๆ จำนวน 2,114 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.10 ของรายรับทั้งหมด ในขณะที่รายจ่ายของกองทุนประกันสังคมประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ๆ คือ รายจ่ายเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทน ค่าบริหารสำนักงาน และรายจ่ายอื่น ๆ ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี พ.ศ. 2567 กองทุนมีรายจ่ายรวม 49,374 ล้านบาท จำแนกเป็นรายจ่ายเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทน จำนวน 28,220 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 57.16 ของรายจ่ายทั้งหมด ค่าบริหารสำนักงาน จำนวน 1,379 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.79 ของรายจ่ายทั้งหมด รายจ่ายอื่น ๆ จำนวน 19,775 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 40.05 ของรายจ่ายทั้งหมด

นอกจากนั้น สถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับกองทุนประกันสังคม ในช่วงไตรมาส 1 พ.ศ. 2567 มีจำนวน 523,917 แห่ง เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาจำนวน 3,146 แห่ง หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.60 ส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการขนาดเล็กที่มีลูกจ้างน้อยกว่าหรือเท่ากับ 10 คน คิดเป็นร้อยละ 73.28 ของจำนวนสถานประกอบการทั้งหมด โดยในช่วงไตรมาส 1 ปี พ.ศ. 2567 ผู้ประกันตนในความคุ้มครองของกองทุนประกันสังคมทุกมาตรา มีจำนวน 24,633,584 คน ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา จำนวน 13,317 คน หรือลดลงร้อยละ 0.05 แบ่งออกเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11,882,607 คน ผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1,770,493 คน และผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 10,980,484 คน

ดังนั้น การที่สำนักงานประกันสังคม จัดให้มีกองทุนประกันสังคมเป็นการสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตให้กับแรงงาน โดยจะมีมาตรการในการขยายเพดานการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน การขยายอายุเกษียณของผู้ประกันตน และการเพิ่มจำนวนผู้ประกันตน เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับกองทุนประกันสังคม ให้สามารถดูแลผู้ประกันตนได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ภาพปก