โรงเรียนมือถือ (Mobile School)

Script Writer
ณัฐพล ยิ่งกล้า, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2024-09
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่ทุกประเทศให้ความสำคัญและใช้เป็นนโยบายหลักสำหรับการพัฒนาประเทศ เพราะการศึกษาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพ ในยุคของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด การแทนที่แรงงานด้วยเทคโนโลยีอัตโนมัติ รูปแบบการเรียนรู้ที่พึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น รวมทั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ส่งผลให้ยังมีเด็ก เยาวชนที่มีฐานะยากจนหลุดออกจากระบบการศึกษา เพราะระบบการศึกษาไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่มี
ความหลากหลายและการเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน ข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พบว่าที่ผ่านมาไทยเผชิญปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาจำนวนมาก เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 มีเด็กไทยอายุระหว่าง 3-18 ปี จำนวน 1,025,514 คน ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา ในจำนวนนี้มีเด็กที่อยู่ในช่วงการศึกษาภาคบังคับ (7-15 ปี) ถึง 394,039 คน หรือร้อยละ 38.40 ของเด็กนอกระบบการศึกษาทั้งหมด ซึ่งกรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดที่มีเด็กหลุดจากการศึกษาภาคบังคับมากที่สุดถึง 61,609 คน

เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษามาจากหลายสาเหตุ เช่น ปัญหาความยากจน ปัญหาครอบครัว ปัญหาการไม่ได้รับสวัสดิการด้านการศึกษา ปัญหาด้านสุขภาพ และปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม รวมถึงการกลั่นแกล้งในโรงเรียน เป็นต้น เด็กหลายคนที่หลุดออกจากระบบการศึกษามักประสบกับปัญหาหลายด้านพร้อมกัน ซึ่งทำให้การช่วยเหลือนั้นมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 54 บัญญัติให้รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัดการศึกษา โดยสร้างโอกาสให้ผู้ซึ่งอยู่ในวัยเรียนแต่ไม่ได้รับการศึกษาในโรงเรียน หรืออยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลหรือทุรกันดาร มีโอกาสเรียนรู้และเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึงและพัฒนาศักยภาพ ทักษะ ความเชี่ยวชาญได้ตามความถนัด 

ด้วยเหตุผลดังกล่าว กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จึงริเริ่มโครงการโรงเรียนมือถือ (Mobile School) เข้าเรียนไม่ได้ ให้โรงเรียนไปหา โครงการเชิงรุกที่จะพาการเรียนรู้และวุฒิการศึกษาไปให้ถึงเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาอายุระหว่าง 7–24 ปีในพื้นที่ทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ

  1. 1. เพื่อให้เด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาได้รับโอกาสการเรียนรู้และวุฒิการศึกษา เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและหลุดพ้นจากวงจรความยากจน
  2. 2. เพื่อเปิดโอกาสและช่องทางการเรียนรู้ที่หลากหลาย เชื่อมโยงวิชาการ ชีวิต อาชีพ ตามรูปแบบการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น ตอบโจทย์ชีวิตเด็กและเยาวชนที่มีบริบทชีวิตที่แตกต่างกัน
  3. 3. เพื่อระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการร่วมสร้างการศึกษาที่ตอบโจทย์ชีวิตเด็ก

ทุกกลุ่ม  รวมถึงร่วมกระจายโอกาสและทรัพยากรทางการศึกษาให้ทั่วถึง โรงเรียนมือถือจัดการศึกษาแบบบูรณาการทั้งรูปแบบ Online และ Onsite  มีครูพี่เลี้ยงทำหน้าที่ช่วยแนะแนว ให้คำปรึกษา และร่วมออกแบบแผนการศึกษา เส้นทางการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนที่มีความพร้อม ความถนัด ความสนใจที่แตกต่างกันเป็นรายคน  โดยศึกษาจากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย ทั้งจากบุคคล  ครอบครัว ชุมชน สังคม สภาพแวดล้อม และสื่อต่าง ๆ ตลอดจนสถานการณ์และกิจกรรมในชีวิตประจำวัน มีการเทียบโอนผลการเรียน การประเมินผลโดยใช้เครื่องมือและวิธีการที่หลากหลาย เช่น การสัมภาษณ์ แฟ้มสะสมผลงาน คะแนนความประพฤติ หรือการสอบวัดระดับ เป็นต้น

โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายศูนย์การเรียนโดยสถาบันทางสังคม สถานประกอบการภาคเอกชน นักวิชาการในสาขาอาชีพต่าง ๆ และชุมชน เด็กและเยาวชนที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาโรงเรียนมือถือเป็นหนึ่งในรูปแบบการจัดการศึกษายืดหยุ่น (Flexible Learning) เปรียบเสมือนกุญแจสำคัญที่จะปลดล็อกศักยภาพของเด็กเยาวชนด้อยโอกาส โดยมอบโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียม เปิดให้เรียนรู้ด้วยวิธีการหลากหลายที่สอดคล้องกับเงื่อนไขชีวิต  สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา (Anytime Anywhere) และได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงจนกระทั่งเกิดกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ภาพปก