การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษของประเทศไทย

Script Writer
วิจิตรา ประยูรวงษ์, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2024-09-14
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 65 บัญญัติให้รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับแผนการและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561–2580) และบูรณาการเข้ากับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. 2564 เพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ของประชาชน โดยส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงานในภาคต่าง ๆ เป็นการยกระดับรายได้ของประชาชน ในแต่ละภูมิภาค รวมทั้งมุ่งเน้นให้มีการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มขึ้น เพื่อพัฒนาให้เขตเศรษฐกิจพิเศษ
เป็นฐานในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่าง ๆ ต่อไป โดยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภาคและการขยายตัวของการลงทุนในเศรษฐกิจพิเศษจะช่วยลดการกระจุกตัวของการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้

แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2566–2580) (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) ได้มีการกำหนดเรื่อง เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งในรายละเอียดของแผนแม่บทนี้จำแนกแผนพัฒนาออกเป็น 3 แผนย่อย ได้แก่ การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ และการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน โดยได้มีการกำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค ดังนี้

  1. 1. ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor: NEC) ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลําปาง เพื่อยกระดับให้เป็นพื้นที่ลงทุนด้านการพัฒนาและฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลักของประเทศอย่างยั่งยืน โดยพัฒนาสภาพแวดล้อมเพื่อการสร้างสรรค์ให้เอื้อต่อการเป็นเมืองสร้างสรรค์ พัฒนาสินค้าและบริการสร้างสรรค์ สร้างแบรนด์ ส่งเสริมการตลาดและการประชาสัมพันธ์ พัฒนาด้านการศึกษาและวิจัย และบุคลากรด้านสร้างสรรค์
  2. 2. ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor: NeEC) ได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี และหนองคาย เพื่อพัฒนาเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่ของประเทศ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ตลอดห่วงโซ่การผลิต เชื่อมโยงการเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาในพื้นที่กับภาคเอกชน พัฒนาและส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากองค์กรและสถาบันให้กับผู้ประกอบการ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และวิสาหกิจชุมชน เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรไปสู่อุตสาหกรรมอาหารในมิติเศรษฐกิจชีวภาพตามแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว
  3. 3. ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง–ตะวันตก (Central–Western Economic Corridor: CWEC) ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี ให้เป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำของภาคกลาง–ตะวันตก ในด้านอุตสาหกรรมเกษตร การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไฮเทคมูลค่าสูงระดับมาตรฐานสากลที่เชื่อมโยงกับกรุงเทพมหานครและพื้นที่โดยรอบ และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 
  4. 4. ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางของภาคใต้ในการเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ และประเทศในภูมิภาคฝั่งทะเลอันดามัน (BIMSTEC) และเป็นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพและการแปรรูปการเกษตรมูลค่าสูง รวมทั้งเพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการท่องเที่ยวสู่นานาชาติ โดยพัฒนาการท่องเที่ยวเชื่อมโยงอ่าวไทยและอันดามัน รวมถึงการท่องเที่ยวแบบผสมผสานเชิงสุขภาพและวิถีชุมชน 

แนวทางการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ โดยคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นฝ่ายเลขานุการ ได้กำหนดให้การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษมีองค์ประกอบ 5 ประการ ได้แก่

  1. 1) การให้สิทธิประโยชน์และการอำนวยความสะดวกการลงทุน
  2. 2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในแต่ละระเบียงเศรษฐกิจพิเศษและเชื่อมโยงกับพื้นที่เศรษฐกิจหลักอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ
  3. 3) การพัฒนาและเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตและบริการ รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม
  4. 4) การพัฒนาแรงงานและสนับสนุนผู้ประกอบการเพื่อรองรับกิจการเป้าหมายในพื้นที่ และ
  5. 5) การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคีการพัฒนา

การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค เป็นการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจใหม่ (New Growth Poles) เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมในการเข้าถึงรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ สร้างงานสร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน อีกทั้งเป็นการเชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากในพื้นที่รวมทั้งพื้นที่เศรษฐกิจอื่น ๆ ของประเทศ เพื่อการกระจายประโยชน์และสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการและชุมชนได้รับประโยชน์จากการพัฒนา สนับสนุนการสร้างเศรษฐกิจใหม่ โดยมีเป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่มุ่งสร้างความเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมและยกระดับการลงทุนและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อนำไปสู่การเติบโตอย่างทั่วถึงและยั่งยืนในอนาคต

ภาพปก