รายงานการศึกษา เรื่อง การศึกษาเชิงเปรียบเทียบการพัฒนาการเมืองไทยและญี่ปุ่นในช่วงเวลา 22 ปี (พ.ศ.2532-2553)

Author
ฐากูร จุลินทร, วิทยากร 7 ว
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ. กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา
No. of Pages
147
Year
2011
Research Types
Research by the Bureau of Academic Services

 

ไทยและญี่ปุ่น ประสบกับสภาวะทางการเมืองในลักษณะธนกิจการเมือง (Money Politics) โดยเป็นวงจรอุบาทว์ทางการเมืองที่มีผู้ใช้เงินเป็นปัจจัยในการเข้าสู่อำนาจรัฐ และเมื่อได้อำนาจรัฐแล้วจึงจำเป็นต้องมีกระบวนการที่มิชอบด้วยกฎหมายเพื่อให้ได้เงินทุนสำหรับรักษาอำนาจรัฐ เป็นผลให้เกิดกระแสการเรียกร้องให้มีการพัฒนาการเมืองหรือการปฏิรูปการเมืองของไทยและญี่ปุ่น ต่อมาจึงมีการดำเนินการเพื่อปรับโครงสร้างสถาบันการเมืองของไทยทั้งระบบ ตั้งแต่การเข้าสู่อำนาจรัฐและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ สำหรับกรณีญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญในการจัดระบบการเลือกตั้ง การรับบริจาคเงิน หรือการจ่ายเงินอุดหนุนต่อพรรคการเมือง

อย่างไรก็ตาม ถ้าวิเคราะห์ผลการพัฒนาการเมืองจากเสถียรภาพทางการเมืองและรัฐบาล ปรากฏว่า มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลอยู่บ่อยครั้งในช่วงระยะเวลา ๒๒ ปี ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๓๒ – ๒๕๕๓ โดยนายกรัฐมนตรีของไทยมี ๑๑ คน โดยเฉลี่ยแล้วระยะเวลาการดำรงตำแหน่งประมาณ ๒ ปี ต่อคน ในขณะที่นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นมี ๑๖ คน โดยเฉลี่ยแล้วระยะเวลาการดำรงตำแหน่งประมาณ ๑ ปี ๕ เดือนต่อคน แต่เมื่อพิจารณาโดยเปรียบเทียบแล้วสาเหตุการพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ด้วยการลาออกส่วนหนึ่งอาจเกิดจากสาเหตุข่าวการทุจริตหรือความนิยมลดน้อยลง สำหรับการพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไทยเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุเนื่องจากตัวแปรทางการเมืองไทยที่หลากหลายกว่า เช่น การชุมนุมประท้วง การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หรือการรัฐประหาร เป็นต้น

ทั้งนี้ อาจมีความเป็นไปได้ว่า ระบบการเลือกตั้งและระบบการเมืองที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เป็นการส่งเสริมและเอื้ออำนวยให้ระบบการเมืองของไทยเป็ นระบบหลายพรรคต่อไป แต่ในส่วนของญี่ปุ่น มีแนวโน้มว่า อาจเกิดพัฒนาการให้ระบบการเมืองของญี่ปุ่นกลายเป็นระบบ ๒ พรรคที่เป็นการแข่งขันทางการเมืองระหว่างพรรค LDP และพรรค DPJ หรือไม่ยังเป็นประเด็นที่ควรพิจารณาต่อไป

จากตัวชี้วัดของการพัฒนาการเมืองพบว่า อัตราการใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของไทยมีอัตราที่สูงขึ้นในขณะที่ญี่ปุ่นมีอัตราที่ลดลงแต่ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงที่น่าพอใจ สำหรับอัตราส่วนจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสตรีต่อจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของไทยสูงกว่าญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวทั้งไทยและญี่ปุ่นยังมีค่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอัตราส่วนจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสตรีต่อจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของต่างประเทศ ทั้งนี้ ค่าดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันของไทยต่ำกว่าญี่ปุ่นและค่าดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันที่ค่อนข้างต่ำดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่สำเร็จในการพัฒนาการเมืองสำหรับการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน