ประชุมลับ

ประชุมลับ

ประชุมลับ หมายถึง การประชุมสภาผู้แทนราษฎร การประชุมวุฒิสภา การประชุมร่วมกันของรัฐสภา และการประชุมคณะกรรมาธิการ ซึ่งกระทำเป็นการลับตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมสภา เช่น คณะรัฐมนตรีร้องขอให้ประชุมลับ เป็นต้น และเมื่อมีการประชุมลับ บุคคลภายนอกหรือแม้แต่สื่อมวลชนก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าฟังการประชุม

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีมาตราที่เกี่ยวข้องกับการประชุมลับ ดังนี้ 

มาตรา 127 บัญญัติว่า “การประชุมสภาผู้แทนราษฎร การประชุมวุฒิสภา และการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ย่อมเป็นการเปิดเผยตามลักษณะที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมแต่ละสภา แต่ถ้าคณะรัฐมนตรี หรือสมาชิกของแต่ละสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกัน มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา หรือจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา แล้วแต่กรณี ร้องขอให้ประชุมลับ ก็ให้ประชุมลับ”

มาตรา 155 บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยหรือเศรษฐกิจของประเทศ สมควรที่จะปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี ผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรจะแจ้งไปยังประธานรัฐสภาขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมรัฐสภาก็ได้ ในกรณีนี้ ประธานรัฐสภาต้องดำเนินการให้มีการประชุมภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับการแจ้ง แต่รัฐสภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายมิได้ การประชุมเรื่องดังกล่าวให้ประชุมลับ และคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องเข้าร่วมประชุมด้วย”

ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562

ข้อ 18 “การประชุมย่อมเป็นการเปิดเผย เว้นแต่คณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาร้องขอให้ประชุมลับ ก็ให้ประชุมลับ...

ในการประชุมลับ ห้ามบุคคลภายนอกเข้าฟังการประชุม เว้นแต่ผู้ที่ได้รับอนุญาตจากประธานเท่านั้น และให้ประธานดำเนินการเพื่อมิให้มีการบันทึกภาพ บันทึกเสียง หรือกระทำการใด ๆ ที่เป็นการถ่ายทอดการประชุมสู่บุคคลภายนอกโดยมิได้รับอนุญาต”

ข้อ 36 “สภาอาจมีมติไม่ให้จดรายงานการประชุมลับครั้งใดทั้งหมด หรือแต่เพียงบางส่วนก็ได้ แต่ให้มีบันทึกเหตุการณ์ไว้”

ข้อ 37 “การเปิดเผยรายงานการประชุมลับ ให้คณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาและเสนอความเห็นเพื่อให้สภามีมติว่าจะเปิดเผยหรือไม่”

ข้อ 98 “ในการประชุมคณะกรรมาธิการ สมาชิก นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และผู้ซึ่งประธานของที่ประชุมคณะกรรมาธิการอนุญาต มีสิทธิเข้าฟังการประชุมในกรณีประชุมลับ ผู้ที่จะเข้าฟังการประชุมได้ต้องเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประชุมและได้รับอนุญาตจากประธานของที่ประชุมคณะกรรมาธิการ”

ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562

ข้อ 13 “การประชุมวุฒิสภาย่อมเป็นการเปิดเผย แต่ถ้าคณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา แล้วแต่กรณี ร้องขอให้ประชุมลับก็ให้ประชุมลับ...

ในการประชุมลับ ผู้ที่จะอยู่ในที่ประชุมวุฒิสภาหรือ ณ ที่ใดในระยะที่จะฟังการประชุมได้ก็แต่เฉพาะสมาชิก รัฐมนตรี และผู้ที่ได้รับอนุญาตจากประธานของที่ประชุม และห้ามใช้เครื่องบันทึกเสียง เครื่องบันทึกภาพ หรือเครื่องมือสื่อสารใด ๆ ยกเว้นการบันทึกของวุฒิสภา และห้ามกระทำการใด ๆ ที่ทำให้การประชุมลับออกไปสู่บุคคลภายนอก ทั้งนี้ ตามระเบียบที่ประธานวุฒิสภากำหนด”

ข้อ 32 “วุฒิสภาอาจมีมติมิให้จดรายงานการประชุมลับครั้งใดทั้งหมด หรือแต่เพียงบางส่วนก็ได้ แต่ให้มีบันทึกพฤติการณ์ไว้”

ข้อ 92 “สมาชิกและผู้ซึ่งได้รับอนุญาตจากประธานของที่ประชุมมีสิทธิเข้าฟังการประชุมคณะกรรมาธิการในกรณีประชุมลับผู้ที่จะเข้าฟังการประชุมได้ต้องเป็นสมาชิกหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประชุม และได้รับอนุญาตจากประธานของที่ประชุม”

ข้อ 112 กำหนดว่าในการประชุมวุฒิสภา ให้คณะกรรมาธิการสามัญที่วุฒิสภาแต่งตั้ง ตามข้อ 105 เริ่มด้วยการนำเสนอรายงานของคณะกรรมาธิการสามัญเฉพาะส่วนที่มิได้เป็นรายงานลับต่อที่ประชุมวุฒิสภาก่อนนำเสนอรายงานของคณะกรรมาธิการสามัญส่วนที่เป็นรายงานลับต่อที่ประชุมวุฒิสภาหากคณะกรรมาธิการสามัญร้องขอต่อที่ประชุมวุฒิสภาเพื่อให้มีการดำเนินการประชุมลับ ก็ให้ประชุมลับและให้เลขาธิการวุฒิสภาแจกสำเนารายงานลับของคณะกรรมาธิการสามัญให้แก่สมาชิกเพื่อประกอบการพิจารณาในที่ประชุมวุฒิสภา สำเนารายงานลับดังกล่าวสมาชิกจะนำออกนอกห้องประชุมมิได้ และภายหลังการประชุมดังกล่าว ให้คณะกรรมาธิการสามัญร้องขอต่อที่ประชุมวุฒิสภาเพื่อมีมติมิให้เปิดเผยรายงานลับ และบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการสามัญไปในคราวเดียวกัน”

ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563

ข้อ 9 “การประชุมรัฐสภาให้เป็นการเปิดเผย เว้นแต่คณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ร้องขอให้ประชุมลับก็ให้ประชุมลับ...

ในการประชุมลับ ห้ามบุคคลภายนอกเข้าฟังการประชุม เว้นแต่ผู้ที่ได้รับอนุญาตจากประธานเท่านั้นให้ประธานดำเนินการเพื่อมิให้มีการบันทึกภาพ บันทึกเสียง หรือกระทำการใด ๆ ที่เป็นการถ่ายทอดการประชุมสู่บุคคลภายนอกโดยมิได้รับอนุญาต”

ข้อ 26 “การประชุมลับต้องจดรายงานการประชุมทุกครั้ง เว้นแต่ที่ประชุมรัฐสภาอาจมีมติไม่ให้จดรายงานการประชุมลับครั้งใดทั้งหมด หรือแต่เพียงบางส่วนก็ได้ แต่ให้มีบันทึกเหตุการณ์ไว้”

ข้อ 27 “การเปิดเผยรายงานการประชุมลับ ให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมรัฐสภา”

ข้อ 68 “ในการประชุมคณะกรรมาธิการ สมาชิกรัฐสภา รัฐมนตรี หรือผู้ซึ่งประธานของที่ประชุมอนุญาตมีสิทธิเข้าฟังการประชุมในกรณีประชุมลับ ผู้ที่จะเข้าฟังการประชุมได้ต้องเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประชุม และได้รับอนุญาตจากประธานของที่ประชุม”

ข้อ 144 กำหนดว่าเมื่อผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรแจ้งขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมรัฐสภา ในเรื่องที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยหรือเศรษฐกิจของประเทศ ให้ประธานรัฐสภาบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาเป็นเรื่องด่วน การประชุมรัฐสภาเรื่องดังกล่าว จะต้องดำเนินการให้มีการประชุมภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง โดยให้ประชุมลับ

Keywords:
ประชุมลับ
Author:
ณัฐพล ยิ่งกล้า, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
สุริยา ฆ้องเสนาะ, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
Date: