ประท้วง

ประท้วง

ประท้วง หมายถึง การแสดงการไม่เห็นด้วยกับการกระทำของบุคคลอื่นในที่ประชุมสภา เมื่อเห็นว่ามีการกระทำหรือการอภิปรายผิดต่อข้อบังคับการประชุมสภา เช่น สมาชิกผู้หนึ่งผู้ใดอภิปรายนอกประเด็น วนเวียน ซ้ำกับบุคคลอื่น หรือเห็นว่ามีการอภิปรายพาดพิงถึงเรื่องส่วนตัวอันทำให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลนั้น ซึ่งการประท้วงดังกล่าวข้างต้นหรือกรณีอื่นใดก็ตาม สมาชิกผู้ที่ต้องการประท้วงจะต้องยืนและยกมือขึ้นพ้นศีรษะ และต้องรอจนกว่าประธานในที่ประชุมจะเห็นและอนุญาตให้ประท้วงได้ ผู้ประท้วงจึงสามารถกล่าวคำประท้วง โดยชี้แจงและให้เหตุผลการประท้วงของตน ซึ่งประธานในที่ประชุมจะเป็นผู้วินิจฉัยว่าการอภิปรายมีการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือพาดพิงทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้ใดตามที่ถูกประท้วงหรือไม่ หากประธานในที่ประชุมวินิจฉัยว่าผิดข้อบังคับหรือทำให้บุคคลอื่นเสียหาย ประธานในที่ประชุมจะสั่งให้ผู้อภิปรายถอนคำพูดหรือยุติการอภิปราย ซึ่งคำวินิจฉัยและคำสั่งของประธานในที่ประชุมถือเป็นเด็ดขาด

ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 กำหนดว่า

“ข้อ 71 สมาชิกผู้ใดต้องการประท้วงว่ามีการฝ่าฝืนข้อบังคับ ให้ยืนและยกมือขึ้นพ้นศีรษะ ประธานต้องให้โอกาสผู้นั้นชี้แจง แล้วให้ประธานวินิจฉัยว่าได้มีการฝ่าฝืนข้อบังคับตามที่ประท้วงหรือไม่ คำวินิจฉัยของประธานถือเป็นเด็ดขาด

ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่ผู้ถูกอภิปรายพาดพิงถึงเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องอื่นใดอันเป็นที่เสียหายแก่ผู้นั้น”

“ข้อ 72 เมื่อมีผู้ประท้วงตามข้อ 71 ผู้อภิปรายอาจถอนคำพูดของตนหรือตามคำวินิจฉัยของประธานได้ถ้าผู้อภิปรายออกไปจากที่ประชุมโดยไม่ถอนคำพูดตามคำวินิจฉัยของประธาน ให้ประธานบันทึกการไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยไว้ในรายงานการประชุม”

ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 กำหนดว่า

“ข้อ 57 สมาชิกผู้ใดเห็นว่ามีการฝ่าฝืนข้อบังคับและประสงค์จะประท้วง ให้ยืนและยกมือขึ้นพ้นศีรษะ ประธานของที่ประชุมจะต้องให้โอกาสผู้นั้นชี้แจง แล้วให้ประธานของที่ประชุมวินิจฉัยว่าได้มีการฝ่าฝืนข้อบังคับตามที่ประท้วงนั้นหรือไม่ คำวินิจฉัยของประธานของที่ประชุมดังกล่าวให้ถือเป็นเด็ดขาด

ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่ผู้ถูกอภิปรายพาดพิงถึงเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องอื่นใดอันเป็นที่เสียหายแก่ผู้นั้น และเมื่อประธานของที่ประชุมวินิจฉัยว่าการอภิปรายนั้นเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับ ประธานของที่ประชุมอาจสั่งให้ผู้อภิปรายถอนคำพูด และผู้อภิปรายต้องปฏิบัติตามคำสั่ง”

“ข้อ 58 ผู้อภิปรายอาจถอนคำพูดของตนได้เอง หรือเมื่อมีผู้ประท้วง หรือตามคำสั่งของประธานของที่ประชุมตามข้อ 57”ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 กำหนดว่า

“ข้อ 47 สมาชิกรัฐสภาผู้ใดต้องการประท้วงว่ามีการฝ่าฝืนข้อบังคับ ให้ยืนและยกมือขึ้นพ้นศีรษะ ประธานต้องให้โอกาสผู้นั้นชี้แจง แล้วให้ประธานวินิจฉัยว่าได้มีการฝ่าฝืนข้อบังคับตามที่ประท้วงหรือไม่ คำวินิจฉัยของประธานถือเป็นเด็ดขาดให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่ผู้ถูกอภิปรายพาดพิงถึงเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องอื่นใดอันเป็นที่เสียหายแก่ผู้นั้น”

“ข้อ 48 เมื่อมีผู้ประท้วงตามข้อ 47 ผู้อภิปรายอาจถอนคำพูดของตน หรือตามคำวินิจฉัยของประธานได้ถ้าผู้อภิปรายออกไปจากที่ประชุมรัฐสภาโดยไม่ถอนคำพูดตามคำวินิจฉัยของประธาน ให้ประธานบันทึกพฤติกรรมการไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยไว้ในรายงานการประชุม”
 

Keywords:
ประท้วง
Author:
ณิชชา บูรณสิงห์, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สานักวิชาการ
นรากร นันทไตรภพ, วิทยากรปฏิบัติการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
โสรญา วิกสุวรรณ, วิทยากรปฏิบัติการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
Date: