รายงานการศึกษา เรื่อง ความแตกต่างระหว่างท้องถิ่นกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 : กรณีศึกษาเปรียบเทียบภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้

ผู้แต่ง :
ปรียวรรณ สุวรรณสูนย์, วิทยากร 5
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ. กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา
จำนวนหน้า :
73
ปีที่เผยแพร่ :
2552
ประเภท :
งานวิจัยโดยสำนักวิชาการ

 

รายงานผลการศึกษา เรื่อง ความแตกต่างระหว่างท้องถิ่นกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 กรณีศึกษาเปรียบเทียบภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาปัจจัยที่ส่งผลในการออกเสียงประชามติของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ และเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความแตกต่างระหว่างท้องถิ่นกับการออกเสียงประชามติของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ในการศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงเอกสาร ใช้แนวคิดทฤษฎีในการศึกษา คือ แนวความคิดการออกเสียงประชามติ ทฤษฎี และแนวความคิดเกี่ยวกับท้องถิ่นนิยม และทฤษฎีการสื่อสารทางการเมือง ตลอดจนงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

ผลการศึกษา พบว่า ปัจจัยหึน่งที่ส่งผลในการออกเสียงประชามติของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ คือ ความแตกต่างระหว่างท้องถิ่น โดยมีความสัมพันธ์กับการออกเสียงประชามติ กล่าวคือ ผลของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า พรรคไทยรักไทยได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 126 ที่นั่ง จาก 136 ที่นั่ง และภายหลังการยุบพรรคไทยรักไทยตามคำวินิจฉัยคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้ผลการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 19 สิงหาคม 2550 ไม่เห็นชอบร้อยละ 62.80 เห็นชอบร้อยละ 37.20 ขณะเดียวกัน ผลของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 ในภาคใต้พบว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 52 ที่นั่ง จาก 54 ที่นั่ง และหลังคำวินิจฉัยคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้ผลการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 19 สิงหาคม 2550 เห็นชอบร้อนละ 88.30 ไม่เห็นชอบร้อยละ 11.70 และยังพบว่า การสื่อสารทางการเมืองมีผลต่อการออกเสียงประชามติของประชาชนในทั้ง 2 ภูมิภาคด้วยเช่นกัน