การประชุมร่วมกันของรัฐสภา

การประชุมร่วมกันของรัฐสภา

การประชุมร่วมกันของรัฐสภา หมายถึง การประชุมร่วมกันของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาเพื่อพิจารณาหรือให้ความเห็นชอบในเรื่องที่รัฐธรรมนูญกำหนด 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้ทั้งสองสภาประชุมร่วมกัน ในกรณีต่อไปนี้

  1. 1. การให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา 17
  2. 2. การปฏิญาณตนของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาตามมาตรา 19
  3. 3. การรับทราบการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 ตามมาตรา 20
  4. 4. การรับทราบหรือให้ความเห็นชอบในการสืบราชสมบัติตามมาตรา 21
  5. 5. การให้ความเห็นชอบในการปิดสมัยประชุมตามมาตรา 121
  6. 6. การเปิดประชุมรัฐสภาตามมาตรา 122
  7. 7. การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา 132
  8. 8. การปรึกษาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติใหม่ตามมาตรา 146
  9. 9. การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 147
  10. 10. การเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 155 และมาตรา 165
  11. 11. การตราข้อบังคับการประชุมรัฐสภาตามมาตรา 157
  12. 12. การแถลงนโยบายตามมาตรา 162
  13. 13. การให้ความเห็นชอบในการประกาศสงครามตามมาตรา 177
  14. 14. การรับฟังคำชี้แจงและการให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญาตามมาตรา 178
  15. 15. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256
  16. 16. กรณีอื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

โดยการประชุมร่วมกันของรัฐสภาจะยึดตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 มีประธานรัฐสภา ซึ่งก็คือ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมีรองประธานรัฐสภา ซึ่งก็คือ ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่รองประธานของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ทั้งนี้ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรก็ดี หรือรองประธานวุฒิสภาก็ดี ไม่มีอำนาจหน้าที่หรือมีส่วนในการทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาแต่ประการใด

คำสำคัญ :
การประชุมร่วมกันของรัฐสภา
ผู้จัดทำ :
รณชัย โตสมภาค, วิทยากรชำนาญการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
อนุชา ดีสวัสดิ์, นิติกรชำนาญการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
วันที่เผยแพร่ :