ประธานของที่ประชุมสภา หมายถึง บุคคลผู้ทำหน้าที่เป็นประธานของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมวุฒิสภา และที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ซึ่งบุคคลผู้ทำหน้าที่เป็นประธานของที่ประชุมสภาดังกล่าว ไม่จำเป็นต้องเป็นตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภาเสมอไป ตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานวุฒิสภา หรือรองประธานรัฐสภาก็สามารถทำหน้าที่เป็นประธานของที่ประชุมสภาได้เนื่องจากมีหน้าที่และอำนาจในการช่วยประธานในกิจการอันเป็นหน้าที่และอำนาจของประธาน นอกจากนั้นแล้วยังมีกรณีที่สมาชิกสภาที่มีอายุสูงสุดขึ้นทำหน้าที่เป็น “ประธานชั่วคราวของที่ประชุม” หากเป็นการประชุมสภาครั้งแรกเพื่อเลือกประธานสภาและรองประธานสภา หรือทำหน้าที่เป็น “ประธานชั่วคราว” เฉพาะคราวประชุมนั้น หากไม่มีผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานของที่ประชุมซึ่ง ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ประธานของที่ประชุมสภา มีกรณีดังต่อไปนี้
1. ประธานชั่วคราวของที่ประชุม เพื่อเลือกประธานสภาและรองประธานสภาครั้งแรก หรือเพื่อดำเนินการเลือกประธานเฉพาะคราวในกรณีที่ไม่มีผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานของที่ประชุม (ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 5 และข้อ 27 หรือข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 ข้อ 5 และข้อ 22) ซึ่งบุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุม มีดังนี้
1.1 สมาชิกผู้มีอายุสูงสุดซึ่งอยู่ในที่ประชุม เป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุม
1.2 กรณีการเลือกประธานสภาและรองประธานสภาครั้งแรก ถ้าผู้เป็นประธานชั่วคราวได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานสภาหรือรองประธานสภา ให้สมาชิกผู้มีอายุสูงสุดในลำดับถัดไปซึ่งอยู่ในที่ประชุมเป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุม
ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562
“ข้อ 5 การเลือกประธานสภาและรองประธานสภาครั้งแรก ให้เลขาธิการเชิญสมาชิกผู้มีอายุสูงสุดซึ่งอยู่ในที่ประชุมเป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุม เพื่อให้ที่ประชุมดำเนินการเลือกประธานสภาและรองประธานสภา และเพื่อให้ที่ประชุมดำเนินการในเรื่องอื่นที่จำเป็นจะต้องประชุมปรึกษาในการประชุมครั้งนั้นด้วย
ในการดำเนินการเลือกตามวรรคหนึ่ง ถ้าผู้เป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุมได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานสภาหรือรองประธานสภา ให้สมาชิกผู้มีอายุสูงสุดในลำดับถัดไปซึ่งอยู่ในที่ประชุมเป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุม”
“ข้อ 27 เมื่อไม่มีผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานของที่ประชุม ให้สมาชิกผู้มีอายุสูงสุดซึ่งมาประชุมเป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุม เพื่อให้ที่ประชุมดำเนินการเลือกประธานสภาและรองประธานสภาตามข้อ 5 ข้อ 6 และข้อ 7 หรือเพื่อให้ที่ประชุมดำเนินการเลือกประธานเฉพาะคราวสำหรับการประชุมครั้งนั้นในกรณีที่ที่ประชุมต้องประชุมปรึกษาเรื่องอื่น…”
ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562
“ข้อ 5 ในการเลือกประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภาครั้งแรก ให้เลขาธิการวุฒิสภาเชิญสมาชิกผู้มีอายุสูงสุดซึ่งอยู่ในที่ประชุมวุฒิสภาเป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุม เพื่อให้ที่ประชุมวุฒิสภาดำเนินการเลือกประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภา และเพื่อดำเนินการในเรื่องอื่นที่จำเป็นจะต้องประชุมปรึกษาในการประชุมครั้งนั้นด้วยในการดำเนินการเลือกตามวรรคหนึ่ง ถ้าผู้เป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุมได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานวุฒิสภาหรือรองประธานวุฒิสภา ให้สมาชิกผู้มีอายุสูงสุดในลำดับถัดไปซึ่งอยู่ในที่ประชุมเป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุม”
“ข้อ 22 เมื่อถึงกำหนดเวลาประชุมหรือพ้นกำหนดเวลาประชุมไปสามสิบนาทีแล้วประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภาไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้เลขาธิการวุฒิสภาแจ้งให้ที่ประชุมวุฒิสภาทราบ ในกรณีเช่นนี้ให้เลขาธิการวุฒิสภาขออนุมัติที่ประชุมวุฒิสภา เพื่อเชิญสมาชิกผู้มีอายุสูงสุดซึ่งอยู่ในที่ประชุมวุฒิสภาเป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุม เพื่อให้ที่ประชุมวุฒิสภาดำเนินการเลือกประธานเฉพาะคราวสำหรับการประชุมครั้งนั้น...”
2. ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา ปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานของที่ประชุม (ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 9 ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 ข้อ 10 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 5)
ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562
“ข้อ 9 ประธานสภามีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(1) เป็นประธานของที่ประชุม...”
ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562
“ข้อ 10 ประธานวุฒิสภามีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้...
(2) เป็นประธานของที่ประชุมวุฒิสภา...”
ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563
“ข้อ 5 ประธานรัฐสภามีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(1) เป็นประธานของที่ประชุมรัฐสภา...”
3. รองประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานวุฒิสภา หรือรองประธานรัฐสภา ปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานของที่ประชุม ในกรณีช่วยประธานสภาในกิจการอันเป็นหน้าที่และอำนาจของประธานสภา (ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 10 ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 ข้อ 11 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 6)
ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562
“ข้อ 10 รองประธานสภามีหน้าที่และอำนาจช่วยประธานสภาในกิจการอันเป็นหน้าที่และอำนาจของประธานสภา...”
ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562
“ข้อ 11 รองประธานวุฒิสภามีหน้าที่และอำนาจช่วยประธานวุฒิสภาในกิจการอันเป็นหน้าที่และอำนาจของประธานวุฒิสภา...”
ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563
“ข้อ 6 รองประธานรัฐสภามีหน้าที่และอำนาจช่วยประธานรัฐสภาในกิจการอันเป็นหน้าที่และอำนาจของประธานรัฐสภา...”
4. ประธานเฉพาะคราวสำหรับการประชุมในครั้งนั้น (ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 27 ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 ข้อ 22 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 18)
ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563
“ข้อ 18 เมื่อไม่มีผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานของที่ประชุม ให้สมาชิกรัฐสภาผู้มีอายุสูงสุดซึ่งมาประชุมเป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุม เพื่อให้ที่ประชุมดำเนินการเลือกประธานเฉพาะคราวสำหรับการประชุมครั้งนั้น”
อนึ่ง ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 27 และข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 ข้อ 22 ได้กล่าวไว้แล้วในข้อ 1 ประธานชั่วคราวของที่ประชุม
สงวนลิขสิทธิ์ © 2565 หอสมุดรัฐสภา
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
เลขที่ 1111 ถนนสามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300
โทรศัพท์ : +66(0) 2242 5900 ต่อ 5714, 5715, 5721-22 โทรสาร : +66(0) 2242 5990
อีเมล : library@parliament.go.th