สถานเอกอัครราชทูตไทยในต่างแดน

ผู้เรียบเรียง :
นฐมลย์ พงษ์รอจน์, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2565-04
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ สังคมโลกมิใช่สังคมที่อยู่โดดเดี่ยวอีกต่อไป ประเทศต่าง ๆ ในโลก  มีความใกล้ชิดกันมากยิ่งกว่าแต่ก่อน การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations) ของประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีจะมีการแลกเปลี่ยนการจัดตั้งหน่วยงานหรือตัวแทนไปประจำยังต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระดับทวิภาคี (Bilateral Relations) และปกป้องผลประโยชน์ระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง การค้า เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี และความร่วมมือสองฝ่าย ตลอดจนการให้การคุ้มครอง ส่งเสริมผลประโยชน์ของคนในชาติของตนที่อยู่ในประเทศนั้น ๆ ซึ่งหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นนั้น ได้แก่ สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ สถานกงสุล คณะผู้แทนถาวร

ในที่นี้ จะขอกล่าวถึงหน่วยงานของไทย คือ “สถานเอกอัครราชทูต” หรือ ที่เราเรียกกันโดยทั่วไปว่า “สถานทูต” ซึ่งตามกฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ. 2558 ข้อ 18 ได้ระบุให้ สถานเอกอัครราชทูต มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) ดำเนินการเกี่ยวกับการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศที่อยู่ในความรับผิดชอบ

(2) ดำเนินการเกี่ยวกับงานด้านกงสุล ตลอดจนดูแล ปกป้อง และคุ้มครองผลประโยชน์ของประเทศไทยและคนไทยในประเทศที่อยู่ในความรับผิดชอบ

(3) ดำเนินการเกี่ยวกับการรายงานสถานการณ์และพัฒนาการทางการค้า เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมในประเทศที่อยู่ในความรับผิดชอบมายังกระทรวง

(4) กำกับและดูแลการปฏิบัติงานของสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ที่อยู่ในความรับผิดชอบ

(5) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย

นอกจากนี้ ยังมีงานอื่น ๆ ที่ผู้คนนึกไม่ถึง เช่น การสืบหาญาติที่อยู่ในต่างแดนและขาดการติดต่อ การให้คำปรึกษาแก่คนไทยในต่างแดนที่เดือดร้อนหรือตกทุกข์ได้ยาก การช่วยเหลือคนไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกัน การส่งคนไทยกลับประเทศเมื่อประเทศที่ไปพำนักอาศัยเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ภัยธรรมชาติ หรือภัยสงคราม หรือบุคคลเหล่านั้นประสบปัญหา การช่วยเหลือผู้ที่ถูกดำเนินคดีในต่างประเทศ การนำศพกลับประเทศเพื่อทำพิธีทางศาสนาในเมืองไทย หรือแม้กระทั่งการเผาศพ การฝังศพ ขุดศพในต่างประเทศ และรับส่งอัฐิตลอดจนส่งคืนทรัพย์สินผู้เสียชีวิตกลับประเทศไทย การจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร และการจัดการเลือกตั้งแบบ E-Voting 

สถานเอกอัครราชทูตไทยในต่างแดน แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ 

1) สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศหนึ่ง ๆ อาทิ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส 

2) สถานเอกอัครราชทูตไทยที่ไม่มีถิ่นที่อยู่ประจำประเทศนั้น ๆ แต่มีเขตอาณาครอบคลุมถึง ซึ่งคำว่า “เขตอาณา” ก็คือ ประเทศหรือเขตแดนที่สถานเอกอัครราชทูตนั้นดูแลด้วย แม้จะไม่มีสำนักงานตั้งอยู่ ณ ที่นั้น อาทิ 
    - สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี มีเขตอาณาครอบคลุม 5 ประเทศ คือ (1) สาธารณรัฐแอลบาเนีย (2) สาธารณรัฐไซปรัส (3) สาธารณรัฐซานมาริโน (4) รัฐอธิปไตยทหารมอลต้า และ (5) สาธารณรัฐอิตาลี 
    - สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงดาการ์ สาธารณรัฐเซเนกัล มีเขตอาณาครอบคลุมมากถึง 12 ประเทศ คือ (1) บูร์กินาฟาโซ (2) สาธารณรัฐกาบูเวร์ดี (3) สาธารณรัฐโกตดิวัวร์ (4) สาธารณรัฐกาบอง (5) สาธารณรัฐแกมเบีย (6) สาธารณรัฐกินี (7) สาธารณรัฐกินี-บิสเซา (8) สาธารณรัฐไลบีเรีย (9) สาธารณรัฐมาลี (10) สาธารณรัฐเซเนกัล (11) สาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน และ (12) สาธารณรัฐโตโก

เมื่อเราได้กล่าวถึงสถานเอกอัครราชทูต ซึ่งเป็นสำนักงานตัวแทนประเทศในต่างแดนแล้ว ก็จะขอกล่าวถึง เจ้าหน้าที่ทางการทูตผู้ที่ปฏิบัติงานในสถานเอกอัครราชทูตไทยในต่างแดน ซึ่งประกอบด้วย 

 (1) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม (Ambassador Extraordinary and Plenipotentiary) โดยในธรรมเนียมปกติทางการทูต ก่อนที่เอกอัครราชทูตฯ จะเข้ารับหน้าที่เมื่อไปถึงถิ่นพำนักในต่างประเทศ จะต้องยื่นอักษรสาส์นตราตั้ง/ถวายพระราชสาส์นตราตั้ง ซึ่งก็คือ หนังสือแต่งตั้งเอกอัครราชทูตฯ จากประมุขของรัฐผู้ส่ง แก่ประมุขของรัฐผู้รับก่อน

(2) อัครราชทูต (Minister)

(3) อัครราชทูตที่ปรึกษา (Minister Counsellor)

(4) ที่ปรึกษา (Counsellor)

(5) เลขานุการเอก (First Secretary)

(6) เลขานุการโท (Second Secretary)

(7) เลขานุการตรี (Third Secretary)

(8) ผู้ช่วยเลขานุการ (Attaché)

และยังมีอีกตำแหน่งที่ไม่ได้เป็นตำแหน่งถาวร เรียกว่า อุปทูตรักษาการ (Chargé d’Affaires) ซึ่งหมายถึง ผู้ที่ทำหน้าที่เอกอัครราชทูต ในขณะที่ไม่มีเอกอัครราชทูตหรือไม่มีผู้ปฏิบัติหน้าที่เอกอัครราชทูตอยู่ในขณะนั้น

นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่ทางการทูตในตำแหน่งอื่น ๆ ที่ปฏิบัติงานอยู่ ณ สถานกงสุลใหญ่ ประจำเมืองต่าง ๆ ที่สำคัญในต่างประเทศ อาทิ กงสุลใหญ่ (Consul General) กงสุล (Consul) รองกงสุล (Vice Consul) และยังมีตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ (Honorary Consul) ซึ่งหมายถึง บุคคลซึ่งเป็นชาวต่างประเทศของประเทศนั้น ๆ ที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม และมีความสัมพันธ์พิเศษกับประเทศไทย ซึ่งปัจจุบัน ประเทศไทยมีสถานเอกอัครราชทูต จำนวน 67 แห่ง และสถานกงสุลใหญ่ 30 แห่งในต่างแดน

ภาพปก