รูปแบบและขั้นตอนการขับเคลื่อน ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต ในประเทศไทย

Forms and procedures driven bill of same-sex marriage in Thailand
ผู้แต่ง :
บารมี พานิช
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ปีที่เผยแพร่ :
2559
ประเภท :
งานวิจัยโดยนิสิต/นักศึกษา

ชื่อปริญญา : ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (การบริหารการพัฒนาสังคม)
ปีการศึกษา : 2559


การศึกษานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1)เพื่อศึกษารูปแบบและขั้นตอนการขับเคลื่อน ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต ในประเทศไทย 2) เพื่อศึกษาทัศนะต่อการนำกฎหมาย ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต ของประชาชนในสังคมไทยมาใช้ การศึกษาใช้กระบวนการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยเน้นสัมภาษณ์แบบเจาะลึกกับผู้ให้ข้อมูลที่สำคัญ 25 ราย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้หลักตรรกะเทียบเคียงกับแนวคิด ทฤษฎีควบคู่กับบริบทและใช้สถิติเชิงพรรนาประกอบ

ผลการศึกษาพบว่า

1) รูปแบบและขั้นตอนการขับเคลื่อน ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต ในประเทศไทย พบว่าเป็นลักษณะการประกอบกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในกฎหมายในระดับการขับเคลื่อนตามรูปแบบสันติวิธีตามจารีตกฎหมาย กล่าวคือมีในระดับประเทศ โดยยึดหลักการและเหตุผลทางกฎหมาย ไม่มีการใช้ความรุนแรงและเคารพระเบียบแนวทางการจัดทำกฎหมายตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ โดยเป็นการพิจารณาแบบเป็นทางการ

2) ทัศนะของการประกาศใช้กฎหมาย ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต ของประชาชนในสังคมไทย ประกอบไปด้วย ทัศนะความคิดเห็นที่ผ่านมาจากการใช้เหตุผลของบุคคลผู้ที่ให้ข้อมูลที่สำคัญต่อประเด็นต่างๆดังนี้ 1) ทัศนะต่อความจำเป็นของการมีกฎหมายการสมรสของบุคคลเพศเดียวกัน 2) ทัศนะต่อความพร้อมในการนำกฎหมายการสมรสของบุคคลเพศเดียวกันมาประกาศใช้ 3) ทัศนะต่อการยอมรับกฎหมายการสมรสของบุคคลเพศเดียวกันจากสาธารณชน 4)ทัศนะต่อความจริงจังของภาครัฐในการนำกฎหมายการสมรสของบุคคลเพศเดียวกันมาใช้จริง และ 5) ทัศนะต่อผลกระทบจากร่างพระราชบัญญัติ การจดทะเบียนคู่ชีวิตต่อครอบครัวและสังคมไทย ซึ่งพบว่าผู้ที่ให้ข้อมูลสำคัญนั้น ล้วนแล้วแต่ทราบถึงผลกระทบของการไม่ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมาย ทำให้เกิดผลเสียตามมาและสนับสนุนการขับเคลื่อนกฎหมายร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิตได้อย่างจริงจัง โดยผ่านระบบเครือข่ายที่มีอยู่ในหน่วยงาน กลุ่ม องค์การหลายภาคส่วนที่ให้ความร่วมมืออย่างสม่ำเสมอ


ข้อเสนอแนะสำคัญคือการร่วมสร้างแนวทางการป้องกัน แก้ไข และพัฒนา ด้านนโยบาย ได้แก่ภาคประชาสังคมควรส่งเสริมความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศโดยหน่วยงานรัฐและเอกชนหรือองค์การทางกฎหมาย และสถาบันการศึกษาต้องร่วมพัฒนาความเท่าเทียมของมนุษย์ และสถาบันครอบครัวถือเป็นหลักในการแก้ไขปัญหาด้านการปลูกฝังทัศนคติที่เข้าใจต่อความแตกต่างหลากหลายของเพศสภาพ ตลอดจนด้านวิชาการ ควรร่วมสร้างองค์ความรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศสภาพของสังคมมนุษย์อย่างยั่งยืน