ศิลปะการฟัง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต

ศิลปะการฟัง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต

ทักษะการฟังที่มีประสิทธิภาพย่อมนำไปสู่ทักษะการพูด การอ่าน การเขียน  ที่มีประสิทธิภาพ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาสังคมยุคปัจจุบันได้

โลกยุคปัจจุบันหรือที่เราเรียกว่า "โลกยุคดิจิทัล" ผู้คนติดต่อสื่อสารกันอย่างรวดเร็ว แต่แฝงไปด้วยความรีบเร่งและแข่งขัน จนเกิดภาวะ "การไม่ฟังกัน" ไม่ยอมกัน เพราะต่างต้องดำเนินชีวิตเพื่อให้ตามทันกระแสสังคมที่ก้าวล้ำ การไม่ฟังกันนำมาสู่ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงได้ หากเพียงเราหันกลับมาฟังกันและกัน เรียนรู้ศิลปะการฟังให้มากขึ้น ฝึกและพัฒนาการฟังอย่างมีวิจารณญาณอย่างลึกซึ้งด้วยหัวใจที่มุ่งปรารถนามิตรไมตรีต่อกัน เพียงเท่านี้ความขัดแย้งของคนในสังคมก็อาจเบาบางลงได้ 

ศิลปะการฟัง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ผู้เขียนได้นำเสนอความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการฟัง ที่เป็นทักษะสื่อสารที่สำคัญ ซึ่งเนื้อหาสาระว่าด้วยเรื่องของการฟัง ได้แก่ ความสำคัญของการฟัง ประเภทของการฟัง ระดับของการฟัง วัตถุประสงค์ของการฟัง คุณลักษณะของผู้ฟังที่ดี เช่น ผู้ฟังที่ดีเป็นอย่างไร ผลของการเป็นผู้ฟังที่ดี แบบสำรวจการเป็นผู้ฟังที่ดี รวมถึงอุปสรรคที่ทำให้การฟังไม่สัมฤทธิ์ผล ทั้งอุปสรรคภายนอกและอุปสรรคภายในของการฟัง และบันได 10 ขั้นสู่การฟังอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นขั้นตอนหรือวิธีการที่จะช่วยให้ผู้ฟังพัฒนาตนเองเป็นผู้ฟังที่มีประสิทธิภาพได้ จากการฝึกฟังในขั้นเบื้องต้น "LADDER" และขั้นสูง "HEAR" อีกทั้งจิตวิทยากับการฟัง เช่น ทฤษฎีมนุษยสัมพันธ์เพื่อการพัฒนาการฟังอย่างยั่งยืน ทฤษฎีการวิเคราะห์การสื่อสารระหว่างบุคคลเพื่อการพัฒนาการฟัง ทฤษฎีการวินิจฉัยคนอื่นจากตัวเราเองเพื่อการเป็นผู้ฟังที่ดี ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังนำเสนอประเด็นหลักของพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับการฟัง เช่น ความหมายและความสำคัญของการฟังตามหลักพระพุทธศาสนากับการฟัง หลักการฟังเพื่อให้เกิดปัญญา ประโยชน์ของการฟังตามหลักพระพุทธศาสนา หลักธรรมเพื่อการฟัง อิทธิบาท 4 วุฒิธรรม อคติ โยนิโสมนสิการ หลักธรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งอวัจนภาษาเพื่อการพัฒนาการฟังอย่างมีประสิทธิภาพ ประเภทของอวัจนภาษาที่เกี่ยวข้องกับการฟัง และเรียนรู้อวัจนภาษาที่บ่งบอกการสื่อสาร รวมถึงการฟังอย่างลึกซึ้ง ในความสำคัญ จุดมุ่งหมาย ประโยชน์และหลักการฟังอย่างลึกซึ้ง ซึ่งเป็นการฟังขั้นสูงสุดของกระบวนการฟังที่จะต้องใช้ทั้งสมองและจิตใจพัฒนาร่วมกันอย่างสอดคล้องกลมกลืน ตลอดจนสุนทรียภาพ : ศิลปะการสื่อสารเพื่อพัฒนาชีวิต ได้แก่ ความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคม องค์ประกอบ หลักการและขั้นตอนของสุนทรียสนทนา รวมถึงการประยุกต์ใช้หลักการฟังในชีวิตประจำวัน อาทิ การฟังในครอบครัว การฟังแบบเพื่อนที่ดี การฟังแบบคนกลางสร้างสันติ การฟังคำวิพากษ์วิจารณ์แบบไม่ขุ่นมัว การฟังคำนินทาแบบไม่เสียคน ไม่เสียเพื่อน เป็นต้น

การฟังเป็นทักษะการสื่อสารที่สำคัญ หากมีทักษะการฟังที่มีประสิทธิภาพย่อมนำไปสู่ทักษะการพูด การอ่าน และการเขียนที่มีประสิทธิภาพด้วย และด้วยการฟังที่ลึกซึ้งด้วยหัวใจ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาสังคมยุคปัจจุบันได้อีกด้วย

หนังสือ "ศิลปะการฟัง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต" นี้พร้อมให้บริการ ท่านที่สนใจสามารถมาใช้บริการได้ที่หอสมุดรัฐสภา

 

ที่มา : กาญจนา ต้นโพธิ์. (2563). ศิลปะการฟัง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต. [BF 323.L5 ก425ศ 2563] 

ผู้จัดทำ :
สายฝน ดีงาม, บรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานห้องสมุด สำนักวิชาการ
สารภี ช้างพลี, เจ้าพนักงานห้องสมุดอาวุโส กลุ่มงานห้องสมุด สำนักวิชาการ
วันที่