รายงานการสัมมนา เรื่อง การเตรียมความพร้อมด้านสารสนเทศเพื่อรองรับพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562

นางสาวชุลีพร ชาญใบพัด ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและวิชาการ ได้กล่าวเปิดการสัมมนา จากนั้นวิทยากร นายบุญเลิศ อรุณพิบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้บรรยายหัวข้อสัมมนาวิชาการตามลำดับ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. การเตรียมความพร้อมด้านสารสนเทศเพื่อรองรับพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562

การปรับเปลี่ยนการบริหารงานและบริการภาครัฐจากรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ไปสู่รูปแบบดิจิทัลนั้น ควรทำความเข้าใจถึงความหมายและแนวทางการพัฒนาไปสู่การบริหารจัดการในรูปแบบดิจิทัลอย่างแท้จริง นับเป็นประเด็นที่ท้าทายสำหรับภาครัฐในการปรับบทบาทให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศในปัจจุบัน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ ด้วยความสะดวก รวดเร็ว ตรวจสอบได้ โดยการศึกษาแผนแม่บทเพื่อการพัฒนา กฎหมาย และคู่มือเกี่ยวกับดิจิทัล ประกอบด้วย

  1. แผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงดิจิทัลไทยแลนด์ (Digital Thailand) หรือ Thailand 4.0 โดยประเทศไทยสามารถสร้างสรรค์และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม ข้อมูล ทุนมนุษย์ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ด้วยวิธีการคิดใหม่ กระบวนการใหม่ ภายใต้ 6 ยุทธศาสตร์ โดยยุทธศาสตร์ที่ 6 สร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล มีเป้าหมายและแผนงานที่เน้นการผลักดันชุดกฎหมายดิจิทัล มีกฎระเบียบที่ทันสมัย มีมาตรฐานข้อมูลที่เป็นสากล
  2. (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2563-2565 มีวิสัยทัศน์เป็นรัฐบาลดิจิทัล เปิดเผย เชื่อมโยง และร่วมกันสร้างบริการที่มีคุณค่าให้ประชาชน โดยมี 3 ยุทธศาสตร์ 8 กลยุทธ์ โดยมีเป้าหมายยกระดับหน่วยงานภาครัฐทำงานแบบชาญฉลาดขึ้นด้วยเทคโนโลยี สร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลภาครัฐเพื่อบริการที่ดีขึ้นสำหรับประชาชน และสนับสนุนการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ และการใช้ข้อมูล เพื่อสร้างประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน
  3. พระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 มุ่งเน้นให้ภาครัฐมีการเปิดเผยข้อมูลและมีการทำงานเชื่อมต่อกัน (Open and Connected Government) เป็นกลไกขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ให้หน่วยงานของรัฐจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐในระดับหน่วยงาน โดยนำระบบดิจิทัลที่เหมาะสมมาใช้ในการบริหารและให้บริการ พัฒนาตามมาตรฐานสากล ปลอดภัย น่าเชื่อถือ 
  4. ประกาศคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เรื่อง ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ หลักการและแนวทางเพื่อให้การได้มาและการนำไปใช้ข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน มั่นคงปลอดภัย รักษาความเป็นส่วนบุคคล และสามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและมั่นคงปลอดภัยได้จริง ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ (Data Governance for Government) กำหนดสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้มีส่วนได้เสียในการบริหารจัดการข้อมูลตั้งแต่การสร้าง การจัดเก็บ การประมวลผล การใช้ การเผยแพร่ จนถึงการทำลาย โดยกฎเกณฑ์และนโยบายข้อมูลต้องสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมองค์กรของแต่ละหน่วยงาน
  5. คู่มือการเตรียมสื่อดิจิทัลที่มีคุณภาพ จัดทำโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นคู่มือให้ทราบถึงแนวปฏิบัติการจัดเตรียมสื่อดิจิทัล สื่อเรียนรู้ในยุคดิจิทัล เพื่อใช้งานและสามารถเผยแพร่ได้

สำหรับการเตรียมความพร้อมของภาครัฐในฐานะหน่วยงานที่มีการบริหารจัดการและให้บริการข้อมูลสารสนเทศแก่ประชาชน ต้องมีการปรับการดำเนินการหลายประการเพื่อรองรับกับพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 มีดังนี้

  1. พระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 เน้นการเปิดเผยข้อมูล (Open Data) และการทำงานเชื่อมกัน (Connected Government) ที่ว่าการเปิดเผยข้อมูลนี้ ไม่ใช่การเปิดเผยข้อมูลในรูปแบบออนไลน์เพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการจัดการข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบไฟล์ที่ได้มาตรฐานเปิด (Open Standard) ง่ายต่อการนำไปใช้งานด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Machine-Readable/ Reusability) 
  2. ดำเนินการตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2563-2565 จัดทำหรือปรับปรุงแผนของหน่วยงานให้สอดคล้อง และประเมินผลการดำเนินงานตามแผน
  3. จัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐในระดับหน่วยงาน เช่น ความชัดเจนของข้อมูลหน่วยงาน ข้อมูลใดสามารถเผยแพร่ต่อสาธารณะได้ และต้องระบุว่าควรเผยแพร่เมื่อใด การกำหนดสถาปัตยกรรมของข้อมูลและแหล่งที่มา จัดทำนโยบายข้อมูล (Data Policy) 5 หมวด ได้แก่ หมวดทั่วไป หมวดการจัดเก็บข้อมูลและทำลายข้อมูล หมวดการประมวลผลและการใช้ข้อมูล หมวดการแลกเปลี่ยนและการเชื่อมโยงข้อมูล และหมวดการเปิดเผยข้อมูล
  4. กลไกในการพัฒนาในอนาคตควรยึดหลักมาตรฐานสากล เพื่อให้มีมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่ดีในการดำเนินงานตามข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ ได้แก่ กลุ่มมาตรฐาน ISO (International Organization for Standardization) มีหลายมาตรฐาน อาทิ มาตรฐานการจัดทำเว็บไซต์ W3C มาตรฐานการจัดการองค์ความรู้ ISO 30401 มาตรฐานการจัดเก็บเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ให้อยู่เป็นเวลานาน (PDF for Archiving) เป็นต้น กลุ่มมาตรฐาน NISO (National Information Standards Organization) สำหรับการทำ Digital Collection กลุ่มมาตรฐาน Data Seal เป็นมาตรฐานเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลเฉพาะทาง การทำคลังข้อมูล กลุ่มมาตรฐาน IMS Global Standards ว่าด้วยมาตรฐานการจัดการเรียนออนไลน์และการอบรมหลักสูตร เป็นต้น
  5. จัดทำบริการในรูปแบบดิจิทัล จัดทำข้อมูลตามภารกิจให้อยู่ในรูปแบบข้อมูลดิจิทัล ดำเนินการให้มีการเชื่อมโยงบริการดิจิทัลของหน่วยงานให้เกิดบริการสาธารณะแบบเบ็ดเสร็จ เชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน จัดให้มีการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันตามที่หน่วยงานของรัฐแห่งอื่นร้องขอ ตัวอย่างเว็บไซต์ภาษีไปไหน? พัฒนาโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) หรือ DGA แสดงการนำข้อมูลภาครัฐแบบเปิด (Open Government Data) ซึ่งเป็นข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และข้อมูลการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี และข้อมูลงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี ที่จัดทำและรวบรวมโดยหน่วยงานรัฐมาใช้และนำเสนอข้อมูลที่สามารถทำให้ประชาชนเข้าใจได้ง่าย
  6. จัดทำข้อมูลข่าวสารในรูปแบบดิจิทัล จัดทำข้อมูลที่ต้องเปิดเผยตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการในรูปแบบข้อมูลดิจิทัลต่อสาธารณะ การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ และจัดส่งข้อมูลที่ต้องเปิดเผยตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการในรูปแบบข้อมูลดิจิทัลต่อสาธารณะมาเปิดเผยที่ศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ http://data.go.th
  7. มีระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล มีมาตรฐานความปลอดภัยในการใช้ระบบทางดิจิทัล ระบบป้องกันหรือรับมือกันภัยคุกคามหรือความเสี่ยงทางไซเบอร์ตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มีช่องทางชำระเงินทางดิจิทัล และจัดให้มีระบบชำระเงินทางดิจิทัลเพิ่มอีกหนึ่งช่องทาง
  8. พัฒนาบุคลากรภาครัฐด้านดิจิทัล โดยสำนักงาน ก.พ. ได้จัดทำชุดความรู้เกี่ยวกับการสร้างและพัฒนากำลังคนภาครัฐเชิงกลยุทธ์เพื่อการไปสู่ทักษะดิจิทัล (Digital Skills) ประกอบด้วย (1) แผนปฏิบัติการด้านการสร้างและพัฒนากำลังคนภาครัฐเชิงกลยุทธ์เพื่อการไปสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ พ.ศ. 2561-2565 (2) แนวทางการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐเพื่อปรับเปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัล ตามมติคณะรัฐมนตรี 26 กันยายน 2560 และ (3) ทักษะด้านดิจิทัลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐเพื่อปรับเปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัล


2. การแนะนำโครงการระบบสื่อสาระออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558

ผู้บรรยายได้กล่าวถึงแนวคิดแบบเปิด โดยแนวคิดนี้ได้นำมาจากตัวชี้วัดระดับโลก Accountability Transparency Governance อันเป็นการเผยแพร่ข้อมูลของเอกสารเพื่อเป็นแนวทางให้รัฐบาลทำงานด้วยความโปร่งใส ตัวอย่างของแนวคิดแบบเปิด เช่น

  • Open Source Software
  • Open Access
  • Open Content
  • Open Science
  • OER – Open Educational Resources
  • Open Culture
  • Open Education
  • Open Research
  • Open Government
  • Open Education Degrees
  • Open Pedagogy 
  • Open Policy
  • Open Web  

ทั้งนี้ แนวคิดแบบเปิดดังกล่าวข้างต้น ได้ยกตัวอย่าง 3 แนวคิดเพื่อปรับใช้กับห้องสมุด คือ

  1. Open Access โดยข้อมูลเปิดนี้สามารถดูได้จาก Wikipedia และยกตัวอย่างกรณีศึกษา Open Text Library คือ การเปิดตำราเรียนแบบเปิดเสรี ไม่ติด License ไม่เสียเงินซื้อ นักศึกษาทุกคนสามารถเข้าใช้ อ่าน ดาวน์โหลดและพิมพ์ได้ตามต้องการ โดยโครงการนี้ศูนย์การศึกษาแบบเปิดเสรีแห่งมหาวิทยาลัยมินิโซต้า ได้เริ่มต้นขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยในเครือข่ายเผยแพร่ตำราเรียนที่ได้รับสนับสนุนจากผู้เขียน สำนักพิมพ์ และมหาวิทยาลัยต้นสังกัด ได้นำออกมาให้นิสิต/นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไปได้ใช้ประโยชน์จากตำราเรียนออนไลน์แบบฟรีโดยไม่มีเงื่อนไข ในประเทศไทยได้มีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการเข้าถึงข้อมูลในวิทยานิพนธ์และการค้นคว้าแบบอิสระของมหาวิทยาลัย เปิดให้อ่าน ดาวน์โหลด และเข้าถึงข้อมูลฉบับเต็ม (Full-Text) เข้าถึงได้ฟรีทุกที่ ทุกเวลา ทุกเครือข่ายได้ โดยจัดเก็บข้อมูลในลักษณะคลังข้อมูล (CMU IR และ CMUL OPAC) ทั้งนี้ ต้องอ้างอิงผู้เขียนเมื่อนำผลงานมาใช้ ตามสัญญาอนุญาตแบบเปิด โดยบังคับให้ทำตามเงื่อนไขของการนำผลงานมาอ้างอิง
  2. Open Access Repository คือ กลไกการเข้าถึงข้อมูลทางเทคโนโลยี เป็น Open ในมิติเทคโนโลยีที่สื่อสารผ่าน Robot Accessibility, Machine Readable เผยแพร่ด้วยสัญญาอนุญาตแบบเปิด ทั้งนี้จะต้องคำนึงถึงการไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสื่อ การเผยแพร่เนื้อหาในสื่อที่กระทบต่อประเด็นข้อมูลส่วนบุคคล และจริยธรรมต่าง ๆ ทั้งนี้ ในแต่ละสถาบันการเปิดเผยข้อมูลรูปแบบของไฟล์ (File Format) สำหรับการเปิดเผยข้อมูลต้องอยู่ในรูปแบบไฟล์ที่เหมาะสมในการบริการข้อมูลโดยพิจารณาจาก เป็นมาตรฐานเปิด (Open Standard) โปรแกรมคอมพิวเตอร์นำไปใช้งานง่าย และ การเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ Open Data ของภาครัฐ เพื่อประโยชน์ของประชาชนที่สามารถตรวจสอบข้อมูลของภาครัฐ ข้อมูลการทุจริตได้ ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น และสร้างประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้ หากแต่ข้อมูล Open Data ได้นำเอา Data Source ต่าง ๆ ที่มีการ Sharing นำไปวิเคราะห์ข้อมูลที่กระจายตัวบนโลกของ Digital Economy อันเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีพื้นฐานบนเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น ธุรกิจ E-Commerce, Social Media
  3. Open Educational Resources หรือ OER คือ แนวคิดที่สนับสนุนหน่วยงานต้องสร้างสรรค์สื่อเอง และยินยอมให้นำไปใช้ได้ เช่น รูปภาพ แผ่นพับประชาสัมพันธ์ หนังสือ เป็นต้น โดยเฉพาะคู่มือต่าง ๆ เพื่อเป็นสื่อในการเรียนการสอน เป็นการปรับเปลี่ยนแนวคิดการสร้างสื่อที่ไม่ละเมิดประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งนี้ต้องเผยแพร่ด้วยสัญญาอนุญาตแบบเปิด (Creative Commons)

ผู้บรรยายได้ยกตัวอย่างการเผยแพร่ออนไลน์ผ่านโครงการระบบสื่อสาระออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 ประกอบด้วยการเรียนรู้ผ่าน 2 เว็บไซต์ คือ

  1. เว็บไซต์ http://oer.learn.in.th เป็นแหล่งสื่อการเรียนรู้แบบเปิด โดยผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลแบบไม่มีค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมการใช้ สื่อที่เผยแพร่ใน OER จะปรากฏรูปภาพ วีดิโอ คลิปภาพและเสียง
  2. เว็บไซต์ http://mooc.learn.in.th เป็นบทเรียนออนไลน์เพื่อรองรับผู้เรียนจำนวนมาก ซึ่งเข้าถึงโดยเชื่อมต่อเข้าดูวีดิโอเพื่อฝึกปฏิบัติ ทำแบบทดสอบแบบฝึกหัด หรือเข้าไปร่วมสนทนากับผู้เรียนอื่น ๆ ได้

การสัมมนาวิชาการ เรื่อง การเตรียมความพร้อมด้านสารสนเทศเพื่อรองรับพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในวันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน 2563 ระหว่างเวลา 09.00-14.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุม 704 ชั้น 7 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ 80 พรรษา อาคารบี ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

Subject(s) & Keyword(s)
Digital Thailand, open data, data governance, OER
ผู้เข้าร่วม :
  1. นางจินตนา  เอี่ยมคง, บรรณารักษ์เชี่ยวชาญ
  2. นางสาวบุษราภรณ์ อัครนิธิยานนท์, บรรณารักษ์เชี่ยวชาญ
วันที่เข้าร่วม :
2563-09-03
ปีที่เข้าร่วม :
2563
แหล่งที่มา :
ความรู้และประสบการณ์จากการอบรม ประชุม และสัมมนา
ผู้เรียบเรียง :
จินตนา เอี่ยมคง, บรรณารักษ์เชี่ยวชาญ กลุ่มงานห้องสมุด สำนักวิชาการ
บุษราภรณ์ อัครนิธิยานนท์, บรรณารักษ์เชี่ยวชาญ กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักวิชาการ
แฟ้มข้อมูล :