เกร็ดความรู้


รัฐพิธีเปิดประชุม

รัฐพิธี หมายถึง งานหรือพิธีที่รัฐบาลกราบบังคมทูลขอพระมหากรุณาธิคุณเพื่อทรงรับไว้เป็นงาน รัฐพิธี มีหมายกำหนดการซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นองค์ประธานในพิธี หรือจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธาน โดยมีคณะบุคคลเฝ้ารับเสด็จ

รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาในที่นี้รวมความถึง สภาผู้แทนราษฎร สภาผู้แทน พฤฒสภา สภาร่างรัฐธรรมนูญ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งมีชื่อแตกต่างกันไปตามรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ ย่อมบ่งบอกได้ว่า “รัฐ” เป็นฝ่ายดำเนินการ โดยมีพระมหากษัตริย์ หรือพระรัชทายาท หรือผู้แทน พระองค์ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธาน เพื่อเป็นการพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ผู้แทนของปวงชนชาวไทยเข้าเฝ้าฯ อย่างเป็นทางการ ก่อนปฏิบัติหน้าที่

การที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภานั้น สันนิษฐานเบื้องต้นว่ามีที่ มาจากธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบต่อกันมาแต่โบราณ และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอังกฤษ ซึ่งถือกันว่าเป็นประเทศต้นแบบของการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา และมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข เช่นเดียวกับประเทศไทยของเราแล้ว จะคล้ายคลึงกัน

สิ่งสำคัญที่สุดในรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา คือ พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานแก่ สมาชิกรัฐสภา เสมือนหนึ่งพระบรมราโชวาทที่สมาชิกรัฐสภาน้อมรับใส่เกล้าใส่กระหม่อม ยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่อย่างสูงสุด นับเป็นมหามงคลแห่งชีวิตที่สูงค่ายิ่ง

รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาจะกระทำ ณ ท้องพระโรง พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาถึงพระที่นั่งอนันตสมาคม รถยนต์พระที่นั่งเทียบที่อัฒจันทร์ด้านทิศตะวันตก ฝั่งพระที่นั่งอัมพรสถาน เสด็จผ่านท้องพระโรงหลัง แล้วเสด็จขึ้นประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์บนพระราชบัลลังก์ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตรภายในพระวิสูตร ขณะที่ผู้มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งหลายรอเฝ้าฯ อยู่ที่ท้องพระโรงหน้า หน้าพระวิสูตร เมื่อประทับพระราชบัลลังก์เรียบร้อยแล้ว มหาดเล็กรัวกรับ ชาวม่านไขพระวิสูตร ชาวพนักงานประโคมกระทั่งแตรมโหระทึก ทหารกองเกียรติยศถวายเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เมื่อสุดเสียงประโคมแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำรัสเปิดประชุมรัฐสภา จบแล้ว มหาดเล็กรัวกลับให้สัญญาณอีกครั้งหนึ่ง ชาวม่านปิดพระวิสูตร มีประโคมและสรรเสริญพระบารมีเช่นเดียวกับเมื่อเสด็จออก อันเป็นการสิ้นสุดของการเสด็จออกมหาสมาคมเพื่อทรงประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา


สภาผู้แทนราษฎร

“สภาผู้แทนราษฎร” เป็นคำประสมระหว่างคำว่า “สภา” กับ คำว่า “ผู้แทนราษฎร”

“สภา” หมายถึง ที่ประชุม, องค์การหรือสถานที่ประชุม ส่วน “ผู้แทนราษฎร” หมายถึง บุคคลที่ได้รับ เลือกจากประชาชนให้ทำหน้าที่แทนในสภานิติบัญญัติ เมื่อรวมคำทั้งสองเข้าด้วยกัน สภาผู้แทนราษฎร หมายถึง องค์การหรือสถานที่ประชุมของบุคคลที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนให้เข้ามาทำหน้าที่ทางด้านนิติบัญญัติ

สภาผู้แทนราษฎรมีขึ้นครั้งแรกตามพระราช บัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 โดยให้ “มีอำนาจออกพระราชบัญญัติทั้งหลาย...” และ “... มีอำนาจดูแลควบคุมกิจการของประเทศและมีอำนาจประชุมกันถอดถอนกรรมการราษฎรหรือพนักงานรัฐบาลผู้หนึ่งผู้ใดก็ได้...”

เมื่อแรกเริ่มเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น “คณะราษฎร” มีเจตนารมณ์ที่ต้องการให้สภาผู้แทนราษฎร เป็นองค์กรทางการเมืองที่มีอำนาจสูงสุด เพื่อใช้อำนาจนั้นเป็นเครื่องมือในการจัดระเบียบใหม่ในการปกครองประเทศ ในวันที่ 28 มิถุนายน 2475 คณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว จำนวน 70 คน และเวลา 14.00 นาฬิกา ของวันเดียวกัน สภาผู้แทนราษฎรได้เปิดประชุมครั้งแรก ณ ห้องโถงชั้นบนของพระที่นั่งอนันตสมาคม

ในการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามเพื่อใช้บังคับแทนรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ที่มีเจตนารมณ์ต้องการใช้บังคับเป็นการชั่วคราวนั้น คณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญยังคงความเห็นและยึดหลักการเดิม คือ ให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นองค์กรทางการเมืองที่เป็นตัวแทนของประชาชนที่มีอำนาจมาก ขณะที่พิจารณานั้นมีสมาชิกเสนอความเห็นว่าควรเปลี่ยนชื่อเรียกองค์กรนี้เสียใหม่ว่า “สมัชชาผู้แทนราษฎร” ด้วยเห็นว่ามีองค์กรทางการเมืองใหม่ที่ทำหน้าที่ฝ่ายบริหารชื่อว่า “สภารัฐมนตรี” หากยังคงใช้คำว่า “สภาผู้แทนราษฎร” ต่อไป อาจจะก่อให้เกิดความสับสนว่าประเทศสยามใช้ระบบสองสภาขึ้นได้

ความเห็นนี้มีทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้าน โดยฝ่ายสนับสนุนเห็นว่า หากเปลี่ยนมาใช้คำ ว่า “สมัชชาผู้แทนราษฎร” ซึ่งจะตรงกับคำที่กระทรวงการต่างประเทศแปลมาจาก“ASSEMBLY” ส่วนฝ่ายที่คัดค้านให้ความเห็นว่า “ สภาผู้แทนราษฎร” เป็นคำที่ประชาชนเข้าใจและคุ้นเคยอย่างดีแล้ว หากเปลี่ยนชื่ออาจจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ว่าตั้งองค์กรขึ้นใหม่สมควรที่จะใช้คำนี้ต่อไป และเพื่อมิให้ เกิดความสับสน จึงเห็นควรเปลี่ยนชื่อองค์กรฝ่ายบริหารจากคำว่า “สภารัฐมนตรี” ไปเป็นชื่ออื่นจะเหมาะ สมกว่า

ในที่สุดผู้เสนอขอเปลี่ยนชื่อได้ขอถอนความเห็นดังกล่าว เป็นอันว่าสภาผู้แทนราษฎรยังคงเป็นชื่อที่ใช้เรียกต่อไป และที่ประชุมได้พิจารณาเปลี่ยนชื่อ “สภารัฐมนตรี” เป็น “คณะรัฐมนตรี” ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้เรียกมาจนถึงปัจจุบัน


พฤฒสภา (พรึด - สะพา) 


ประเทศไทยภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 รัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีสภาเดียว คือ สภาผู้แทนราษฎร ต่อมาเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 โครงสร้างของสภาเปลี่ยนเป็นสภาคู่ เรียกว่า รัฐสภา ประกอบด้วย พฤฒสภา และสภาผู้แทน นับเป็นรัฐสภาชุดที่ 6 ของประเทศไทย

ในระหว่าง พ.ศ. 2489 - พ.ศ. 2490 พฤฒสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 80 คน อยู่ในตำแหน่งคราวละ 6 ปี และเมื่อครบ 3 ปี ให้จับสลากออกกึ่งหนึ่ง สมาชิกพฤฒสภาต้องมีอายุ 40 ปี ขึ้นไป และมีการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่ามาแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือเคยเป็นข้าราชการไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากองหรือเทียบเท่า แต่ต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ พฤฒสภามีอำนาจหน้าที่ คือ ยับยั้งร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทน และควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 กำหนดให้ราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา แต่ในระยะแรกให้สมาชิกประเภทที่ 1 ซึ่งราษฎรเลือกตั้งสมัยรัฐสภาชุดก่อนหน้านั้นเป็นผู้เลือกตั้งไปก่อน โดยมีการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2489 การประชุมพฤฒสภาและที่ทำการสำนักงานเลขาธิการพฤฒสภา คือ พระที่นั่งอภิเษกดุสิต พฤฒสภาได้ประชุมครั้งแรก วันที่ 3 มิถุนายน 2489 ที่ประชุมได้เลือก 

นายวิลาศ โอสถานนท์ เป็นประธานพฤฒสภา เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกยกเลิกโดยการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 คำว่า พฤฒสภา จึงเปลี่ยนเป็น วุฒิสภา และใช้ต่อมาจวบจนปัจจุบัน


รัฐธรรมนูญ
 

เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ในปีพุทธศักราช 2475 ประเทศไทยมีกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ คือ “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปก ครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475” สำหรับคำว่า “รัฐธรรมนูญ” เกิดขึ้นเมื่อมีรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 2 คือ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475”เป็นคำที่ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงษ์ประพันธ์ ได้ทรงบัญญัติขึ้น พร้อมทั้งทรงอธิบายว่า คำว่า “รัฐธรรมนูญ” ตามศัพท์แปลว่า ระเบียบอำนาจหน้าที่ในการปกครองแผ่นดินโดย “รัฐ” แปลว่า การปกครองแผ่นดิน และ “ธรรมนูญ” แปลว่า ระเบียบอำนาจหน้าที่ หรืออีกความหมายหนึ่ง “รัฐ” หมายถึง แว่นแคว้น บ้านเมือง หรือราษฎรที่รวมกันอยู่ในอาณาเขตที่แน่นอน ภายใต้อำนาจอธิปไตยของตนเอง คำว่า “ธรรมนูญ” หมาย ถึง กฎหมายว่าด้วยระเบียบการ ดังนั้น คำว่า “รัฐธรรมนูญ” หมายถึง กฎหมายว่าด้วยระเบียบการของรัฐ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2542 ให้ความหมายคำว่า “รัฐธรรมนูญ” (รัดถะทำมะนูน, รัดทำมะนูน) หมายถึง บทกฎหมายสูงสุดที่จัดระเบียบการปกครองประเทศ โดยกำหนด รูปแบบของรัฐ ระบอบการปกครองของรัฐ รวมทั้งสถาบันและองค์กร การใช้อำนาจอธิปไตยในการปกครองรัฐ


องค์ประชุม

หมายถึง จำนวนต่ำสุดของสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมสภา และประชุมกรรมาธิการตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ อันจะก่อให้เกิดผลในทางนิติบัญญัติ ถ้าหากสมาชิกเข้าร่วมประชุม
ไม่ครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ต่ำสุดดังกล่าว เรียกว่าไม่ครบองค์ประชุม และเมื่อไม่ครบองค์ประชุม การประชุมจะดำเนินไปไม่ได้ ถึงจะดำเนินไปก็ถือว่าเป็นโมฆะ

โดยปกติเมื่อถึงเวลานัดประชุมแล้ว แต่จำนวนสมาชิกยังไม่ครบองค์ประชุม ประธานก็จะเปิดประชุมไม่ได้ และในระหว่างการประชุม ถ้าหากมีสมาชิกผู้ใดทักท้วงว่าองค์ประชุมไม่ครบ ประธานของที่ประชุม จะสั่งให้มีการตรวจสอบองค์ประชุมก็ได้ ถ้าหากครบก็ดำเนินการประชุมต่อไป แต่ถ้าหากไม่ครบ ก็ไม่สามารถดำเนินการประชุมต่อไปได้


วิป
 

หมายถึง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ควบคุมการออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมของสมาชิกอื่นๆ ในสังกัดพรรคของตนให้เป็นไปตามมติของพรรคนั้นๆ และทำหน้าที่ประสานงานระหว่างพรรคการเมือง เพื่อให้การดำเนินการของสภาผู้แทนราษฎรดำเนินไปอย่างราบรื่น

ในทางทฤษฎีนั้น สมาชิกสภาย่อมมีอิสระที่จะแสดงความคิดเห็นหรือลงมติด้วยความเห็นชอบของตนด้วยความบริสุทธิ์ใจ ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับมติของพรรคก็ได้ แต่ในทางปฏิบัติ มติของพรรคย่อมจะต้องเป็นที่ยึดถือและเชื่อฟังการกระทำใดๆ อันเป็นการฝ่าฝืนมติของพรรคถือเป็นความผิด หากสมาชิกที่สังกัดพรรคคนใดกระทำผิดดังกล่าวเกิดขึ้น วิปก็จะต้องรายงานต่อคณะกรรมการบริหารพรรค เพื่อให้มีการพิจารณาการกระทำผิดดังกล่าว

คำว่า “วิป” นี้ ไม่ใช่คำภาษาไทย และไม่ใช้คำที่ใช้เป็นทางการมาจากภาษาอังกฤษ ว่า “whip” ที่แปลว่า “ผู้ถือแส้” ซึ่งเปรียบเสมือนผู้ควบคุมนั่นเอง จึงไม่มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือข้อบังคับการประชุมของสภา


การจดชวเลข (Shorthand)

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้นำชวเลขมาใช้เป็นครั้งแรก ในกระทรวงยุติธรรม ซึ่งต้องการนักชวเลขเพื่อจดคำให้การในศาล โดยหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาราชการแผ่นดินของกระทรวงการต่างประเทศ ทรงดัดแปลงชวเลขแบบปิทแมน (Pitman ) จากภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทยได้สำเร็จ และเริ่มสอนนักเรียนเมื่อปีพุทธศักราช 2451 เพียงระยะเวลา 8 เดือน มี นักเรียนสามารถเขียน ชวเลขได้ถึงนาทีละ 130 คำ จึงส่งเข้าสอบในศาลยุติธรรม ปรากฎว่าสอบได้ 11 คน และได้เข้ารับราชการในตำแหน่งพนักงานชวเลขในศาลยุติธรรม ต่อมาหลักสูตรการสอนชวเลขแบบ ปิทแมน ได้นำมาสอนในโรงเรียนพาณิชยการ ส่วนชวเลขแบบเกร๊ก (Gregg ) ได้เข้ามาภายหลัง โดยหลวงมิตรธรรมพิทักษ์

การจดชวเลขในการประชุมสภา เมื่อได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในวันที่ 28 มิถุนายน 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม การประชุมครั้งนั้นได้ใช้เจ้าหน้าที่ชวเลขจดถ้อยคำในการประชุมสภา และนำมาแปลถ่ายถอด เพื่อจัดทำรายงานการประชุมนับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน


ความคุ้มกัน


ความคุ้มกันของสมาชิกรัฐสภา หมายถึง การได้รับยกเว้นตามกฎหมายที่จะไม่ถูกจับกุม คุมขัง หรือดำเนินคดีในความผิดคดีอาญา ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่หากสมาชิกไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือนอกสมัยประชุม หรือพ้นจากตำแหน่งแล้ว จึงสามารถดำเนินคดีต่อไปได้ ยกเว้นเป็นการจับในขณะกระทำความผิด

ทั้งนี้สมาชิกรัฐสภา จะไม่ได้รับความคุ้มกันในกรณีการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือคดีที่เกี่ยวกับกฎหมายเลือกตั้ง


เอกสิทธิ์

เอกสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภา หมายถึง สิทธิพิเศษตามกฎหมาย ที่ให้อิสระในการพูด การอภิปราย หรือการดำเนินการใดๆ ในรัฐสภาระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ ถือเป็นเอกสิทธิ์เด็ดขาด โดยบุคคลอื่นมิอาจนำไปฟ้องร้องว่ากล่าวในทางใดๆ เพื่อเป็นการประกันหรือคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และเอกสิทธิ์นี้จะมีอยู่ตลอดไปถึงแม้สมาชิกจะพ้นสมาชิกภาพไปแล้วก็จะนำมาฟ้องร้องไม่ได้

ทั้งนี้เอกสิทธิ์จะไม่คุ้มครองถึงกรณีที่สมาชิกรัฐสภากล่าวถ้อยคำในการประชุมที่มีการถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ หากถ้อยคำที่กล่าวนั้นไปปรากฏนอกบริเวณรัฐสภา และการกล่าวถ้อยคำนั้นมีลักษณะเป็นความผิดทางอาญาหรือละเมิดสิทธิในทางแพ่งต่อบุคคลอื่นซึ่งมิใช่รัฐมนตรีหรือสมาชิกแห่งสภานั้น

 

TH