“อู่ฮั่นโมเดล” กับแนวทางการล็อกดาวน์เมืองของไทย

ผู้เรียบเรียง :
ฉัตรชัย ศรีเมืองกาญจนา, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2564-08
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) ของประเทศไทย ปัจจุบันมีการแพร่ระบาดกระจายไปในทุกพื้นที่ของประเทศ มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มจำนวนมากขึ้นในแต่ละวัน ส่งผลให้เกิดภาวะวิกฤติด้านสาธารณสุขอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด ตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 11/2564 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2564 เรื่องพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด และพื้นที่ควบคุม ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ประกอบด้วย 

1) กรุงเทพมหานคร 2) กาญจนบุรี 3) ชลบุรี 4) ฉะเชิงเทรา 5) ตาก 6) นครปฐม 7) นครนายก 8) นครราชสีมา 9) นราธิวาส 10) นนทบุรี 11) ปทุมธานี 12) ประจวบคีรีขันธ์ 13) ปราจีนบุรี 14) ปัตตานี 15) พระนครศรีอยุธยา 16) เพชรบุรี 17) เพชรบูรณ์ 18) ยะลา 19) ระยอง 20) ราชบุรี 21) ลพบุรี 22) สงขลา 23) สิงห์บุรี 24) สมุทรปราการ 25) สมุทรสงคราม 26) สมุทรสาคร 27) สระบุรี 28) สุพรรณบุรี และ 29) อ่างทอง

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้รัฐบาลได้มีการกำหนดมาตรการต่าง ๆ ที่จำเป็นในการยับยั้งการระบาดของโรคโควิด 19 เช่น การห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 21.00-04.00 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น เพื่อลดการเดินทางออกนอกเคหสถานของประชาชน การปิดสถานที่หรือกิจการบางประเภท รวมถึงการห้ามจัดกิจกรรมต่าง ๆ อันเป็นเหตุให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด 19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด แต่จำนวนผู้ติดเชื้อยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการติดเชื้อแบบกลุ่มก้อนในหลายพื้นที่ของประเทศ หากมาตรการควบคุมโรคที่ภาครัฐกำลังดำเนินการอยู่ไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้โดยเร็ว รัฐบาลอาจต้องมีมาตรการที่เข้มข้นสูงสุดโดยใช้แนวทางที่เรียกว่า "อู่ฮั่นโมเดล"

อู่ฮั่นโมเดล คือ แนวทางการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ในมณฑลหูเป่ย ประเทศจีน เมื่อปี 2563 โดยทำการล็อกดาวน์เมืองแบบเข้มข้นในหลายเมืองของมณฑลหูเป่ย เป็นเวลา 76 วัน เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 8 เมษายน 2563 ถือเป็นการดำเนินมาตรการรับมือโรคระบาดขั้นสูงสุด มากกว่าแนวทางดำเนินการขององค์การอนามัยโลก (WHO) ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ของอู่ฮั่นเริ่มทรงตัวภายใน 1 เดือน และลดเหลือ "ศูนย์" ภายใน 2 เดือน สำหรับแนวทางการดำเนินมาตรการล็อกดาวน์เมืองแบบ "อู่ฮั่นโมเดล" สรุปได้ ดังนี้

1) ประเทศจีนเริ่มใช้มาตรการล็อกดาวน์เมืองอู่ฮั่น เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563โดยทางการได้ส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชันซึ่งทางการกำหนดให้ประชากรทุกคนของเมืองต้องลงทะเบียนใช้งาน และได้แจ้งประชาชนทราบในเวลา 02.00 นาฬิกา ก่อนการประกาศปิดให้บริการสนามบิน สถานีรถไฟ สถานีรถโดยสาร ภายในเวลา 10.00 นาฬิกา ของวันเดียวกัน การปิดเมืองภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงทำให้ประชาชนไม่สามารถเคลื่อนย้ายหรืออพยพออกจากพื้นที่ได้ พร้อมกันนี้ทางการจีนได้มีการระดมทีมนักระบาดวิทยาจากทั่วประเทศ มากกว่า 1,800 ทีม เข้ามาประจำการในอู่ฮั่น เพื่อทำการปูพรมตรวจหาเชื้อแบบกลุ่ม หรือที่เรียกว่า Pooled Sample Testing ทำให้สามารถตรวจหาเชื้อได้นับสิบล้านคนในเวลาเพียงไม่นานนัก นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่ในการสอบสวนโรค และติดตามกลุ่มเสี่ยงมาแยกกักตัว โดยมีสถานีสุขภาพและการกักกันโรคทั่วเมืองอู่ฮั่นหลายพันจุด

2) มีการปิดถนน ทางหลวงทุกเส้นทางในเมือง ห้ามประชาชนเข้า-ออกเมือง ไม่ว่าจะกรณีใดก็ตามไม่มีข้อยกเว้น แม้แต่การเดินทางเพื่อพบแพทย์หรือการรักษาก็ไม่สามารถกระทำได้ กรณีที่อนุญาตให้เข้า-ออกได้ คือ การขนส่งอาหารสด ซึ่งรถขนส่งจะต้องมีใบอนุญาตเท่านั้น

3) การห้ามประชาชนออกนอกบ้าน ซึ่งมาตรการนี้มีความแตกต่างกันในบางพื้นที่ โดยบางพื้นที่เจ้าหน้าที่จะอนุญาตสมาชิกในครอบครัวเพียง 1 คน ออกจากบ้านไปซื้ออาหารและสิ่งของจำเป็นได้ในทุก ๆ 2 วัน แต่ต้องสวมหน้ากากอนามัยและรักษาระยะห่างอย่างเข้มงวด แต่บางพื้นที่ไม่อนุญาตให้ประชาชนออกนอกบ้านอย่างเด็ดขาด ทำให้ต้องสั่งอาหารและสิ่งของจำเป็นจากทางออนไลน์ 

4) มีการปิดสถานศึกษา สำนักงาน โรงงาน รวมถึงร้านค้าทุกประเภท ยกเว้นร้านอาหาร ร้านขายยา ซูเปอร์มาเก็ต และโรงงานที่ผลิตสิ่งจำเป็น เช่น อาหาร ยา เป็นต้น 

5) มีการเร่งสร้างโรงพยาบาลสนามขนาดใหญ่ 2 แห่ง เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อหลายพันคน และหลังจากผ่อนคลายมาตรการลงแล้ว ได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชัน เช่น ลีเปย์ (Alipay) และวีแชต (WeChat) ที่จะระบุที่อยู่ ประวัติการเดินทาง ประวัติทางการแพทย์ของเจ้าของโทรศัพท์และแสดงผลของบุคคลนั้นและสร้าง QR code สามสถานะได้แก่ สีเขียว หมายถึง สามารถเดินทางได้ตามปกติ สีเหลือง ต้องกักตัวเองอีก 7 วัน และสีแดงต้องกักตัวเอง 14 วัน โดยจะอนุญาตให้เฉพาะผู้มีผล QR Code เป็นสีเขียวเท่านั้น ให้สามารถเดินทางระหว่างเมือง เดินทางในระบบขนส่งสาธารณะ เข้าสถานที่ทำงาน หน่วยธุรกิจ หน่วยงานผลิตต่าง ๆ เช่น โรงงาน ห้างสรรพสินค้า และร้านอาหาร เป็นต้น

จากมาตรการที่ใช้ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ในมณฑลหูเป่ย ประเทศจีน ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าเป็นมาตรการที่เน้นการตรวจ ติดตาม และกักตัวผู้ที่ติดเชื้อให้ได้เร็วที่สุด มีการบริหารจัดการระบบสาธารณสุขอย่างเป็นระบบ ซึ่งประเทศไทยอาจนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทในแต่ละพื้นที่ที่มีการระบาด โดยอาจแยกตามประเภทกิจกรรม แยกตามห้วงเวลา รวมทั้งควรมีการประเมินผลอย่างเป็นระบบและสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้ตลอดเวลา 

ภาพปก