สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน

ผู้เรียบเรียง :
สุภาพิชญ์ ถิระวัฒน์, นิติกรชำนาญการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2564-07
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ตั้งแต่สมัยโบราณ นอกจากทหารซึ่งมีหน้าที่หลักในการป้องกันประเทศชาติแล้ว ราษฎรทั่วไปได้มีบทบาทในการต่อสู้กับข้าศึกศัตรูเช่นเดียวกัน เช่น ชาวบ้านบางระจันที่ต่อสู้กับพม่าในศึกบางระจัน การสู้รบที่เมืองถลางโดยการนำของท้าวเทพกษัตรีและท้าวศรีสุนทร และการกอบกู้อิสรภาพเมืองนครราชสีมาโดยการนำของท้าวสุรนารี เป็นต้น ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนากองเสือป่าขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2454 เป็นกองพลอาสาสมัครเพื่ออบรมข้าราชการและประชาชนให้รู้จักรักชาติ รู้จักหน้าที่ในการป้องกันรักษาประเทศชาติ จนกระทั่งได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2497 เนื่องจากเห็นว่าการป้องกันประเทศชาติในสถานการณ์สงครามเป็นหน้าที่ของประชาชนพลเมืองทุกคนที่จะต้องร่วมมือช่วยเหลือและจะต้องได้รับการศึกษาอบรม เพื่อให้มีความรู้ในการที่จะป้องกันตนเองและประเทศชาติ จำเป็นต้องมีการฝึกอบรมและจัดตั้งหน่วยบังคับบัญชาเตรียมไว้ในเวลาปกติ จึงจัดตั้ง “กองอาสารักษาดินแดน” ขึ้น และกำหนดให้มีการสมัครเข้าเป็น “สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน” หรือ “สมาชิก อส.” ทำให้อาสาภาคพลเรือนซึ่งเป็นกำลังสำรองทั้งในยามปกติและยามสงครามมีรูปแบบและระบบที่ชัดเจนตามกฎหมาย

กองอาสารักษาดินแดนมีฐานะเป็นนิติบุคคลขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย โดยกระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้กรมการปกครองเป็นหน่วยบริหารจัดการตั้งแต่ปี 2500 กองอาสารักษาดินแดนแบ่งเป็นกองอาสารักษาดินแดนส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มีหน้าที่บรรเทาภัยที่เกิดจากธรรมชาติและการกระทำของข้าศึก ทำหน้าที่รักษาความสงบภายในท้องที่ร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ รักษาสถานที่สำคัญและการคมนาคม ป้องกันการจารกรรม สดับตรับฟังและรายงานข่าว ทำการช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่ฝ่ายทหารตามที่ต้องการและตัดทอนกำลังข้าศึก รวมทั้งเป็นกำลังสำรองที่พร้อมจะเพิ่มเติมและสนับสนุนกำลังทหารได้เมื่อจำเป็น โดยเจ้าหน้าที่และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนมีหน้าที่กระทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาและปฏิบัติตามหน้าที่ ระเบียบ ข้อบังคับและวินัยของกองอาสารักษาดินแดน 

กองอาสารักษาดินแดน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้บัญชาการกองอาสารักษาดินแดน มีข้าราชการสังกัดกรมการปกครองเป็นผู้บังคับหน่วย และมีกำลังพลระดับปฏิบัติการ ได้แก่ “สมาชิก อส.” ซึ่งมีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีชั้นยศ มีสิทธิประโยชน์ ค่าตอบแทนและสวัสดิการต่าง ๆ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย สมาชิก อส. มี 3 ประเภท ได้แก่ 1. ประเภทสํารอง คือ สมาชิกที่ยังไม่ได้เข้ารับการฝึกหัดและอบรม 2. ประเภทประจำกอง คือ สมาชิกที่ได้รับการฝึกหัดและอบรม และบรรจุอยู่ในอัตรากําลัง และ 3. ประเภทกองหนุน คือ สมาชิกที่ได้ปลดออกจากประจำกองแล้ว ปัจจุบันมีสมาชิก อส. มากกว่า 26,000 นาย ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ รวม 971 กองร้อย

ในภาวะไม่ปกติหรือยามสงคราม สมาชิก อส.จะมีหน้าที่สนับสนุนกำลังรบหลัก ปฏิบัติภารกิจพิทักษ์พื้นที่เขตหลังในฐานะกำลังสำรองประเภทกำลังกึ่งทหาร แต่ในภาวะปกติจะทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมและความมั่นคงของชาติร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครอง โดยในอดีตตั้งแต่ปี 2508 ถึงปี 2522 สมาชิก อส. มีบทบาทสำคัญในการร่วมปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ แต่ต่อมาเมื่อสถานการณ์การก่อการร้ายของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์สิ้นสุดลงและไม่มีสงครามจากภายนอกประเทศ “สมาชิก อส.” ทำหน้าที่เป็นกองกำลังประจำถิ่นเพื่อช่วยเหลือ และสนับสนุนการทำงานระหว่างพนักงานฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามภารกิจที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้แก่ประชาชน เช่น การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การป้องกันปราบปรามและการบำบัดรักษาผู้เสพยาเสพติด การปราบปรามการค้ามนุษย์ การป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นต้น

“สมาชิก อส.” มีข้อได้เปรียบและมีความแตกต่างจากทหารหรือตำรวจ คือ สมาชิก อส. มีความใกล้ชิดกับประชาชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากสมาชิก อส. เองเป็นประชาชนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ ทำให้มีความเข้าใจในพื้นที่และสถานการณ์ในพื้นที่เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในพื้นที่นั้นสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและสามารถนำข้อมูลเสนอผู้บังคับบัญชา เพื่อตัดสินใจแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมาชิก อส. จึงเป็นกำลังสำคัญในการรักษาความสงบสุขของพี่น้องประชาชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

จากการที่ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2497 จึงได้มีการกำหนดให้ “วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนากองอาสารักษาดินแดน” โดยมีการจัดงานวันคล้ายวันสถาปนากองอาสารักษาดินแดนเพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณงามความดีของเหล่าสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน และเพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความทุ่มเท เสียสละ อดทน เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนและประเทศชาติ ซึ่งในการจัดงานดังกล่าวมีกิจกรรมหลากหลาย อาทิ การมอบเข็มอาสารักษาดินแดนสดุดีให้กับผู้บังคับบัญชา เจ้าหน้าที่ และสมาชิก อส. ตลอดจนการมอบทุนการศึกษาของมูลนิธิอาสารักษาดินแดนในพระบรมราชินูปถัมภ์แก่บุตรสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน เป็นต้น
 

ภาพปก