การดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19

ผู้เรียบเรียง :
วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2564-07
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (COVID-19) เป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนผ่านทางสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ โดยละอองฝอยเข้าสู่ร่างกายผ่านการไอ จาม การพูดคุย หรือผ่านการสัมผัสพื้นผิวที่มีเชื้อโรค แล้วจับต้องบริเวณจมูก ปาก ตา ผู้ติดเชื้อแต่ละรายจะมีอาการของโรคแตกต่างกันไป คือ ไม่มีอาการ มีอาการไม่รุนแรง (ไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ไม่ได้กลิ่น) มีอาการรุนแรง (หอบ เหนื่อย ขาดออกซิเจน ติดเชื้อที่ปอดมากกว่าร้อยละ 50) มีอาการวิกฤต (ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว หรือการทำงานล้มเหลวของอวัยวะหลายส่วน มีอาการช็อก) จนถึงขั้นเสียชีวิต การเกิดโรครุนแรงสามารถเกิดขึ้นในผู้ติดเชื้อในทุกกลุ่มอายุ แต่พบว่า โดยส่วนใหญ่เกิดในผู้ใหญ่ที่มีอายุมากหรือมีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคปอดเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคไตเรื้อรัง โรคอ้วน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติจึงได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 ให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 เนื่องจากเป็นโรคติดต่อที่มีความรุนแรงสูงและสามารถแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็วและก่อให้เกิดโรคระบาดมากผิดปกติกว่าที่เคยเป็นมา

ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 การรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญ การกินอาหารในสัดส่วนที่เหมาะสมเพียงพอ กินผักผลไม้เป็นประจำ ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นวิธีการที่จะช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกายแข็งแรงต้านทานโรคได้ การดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 โดยใช้หลัก 4 อ. คือ อาหาร อนามัย ออกกำลังกาย และอารมณ์ มีดังนี้

1. อาหาร ควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และเป็นอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ควรทานอาหารแยกสำรับ และใช้ช้อนส่วนตัว ทั้งนี้ การกินผัก ผลไม้ และสมุนไพร จะสามารถช่วยเสริมภูมิคุ้มกันและต้านเชื้อไวรัสได้ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1) กลุ่มเสริมภูมิคุ้มกัน เช่น พลูคาวหรือผักคาวตอง เห็ดต่าง ๆ ตรีผลา (สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม)
2) กลุ่มที่มีวิตามินซีและสารต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น ดอกขี้เหล็ก ยอดมะยม ใบเหลียง  ยอดสะเดา มะระขี้นก ฟักข้าว ผักเชียงดา คะน้า มะรุม ผักแพว มะขามป้อม ลูกหม่อน และผักผลไม้หลากสี และ
3) กลุ่มที่มีสารสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด 19 เช่น พลูคาวหรือผักคาวตอง กะเพรา หอมแดง หอมหัวใหญ่ มะรุม ใบหม่อน แอปเปิล เปลือกผลของพืชตระกูลส้ม (ส้ม มะนาว มะกรูด ส้มซ่า) โดยมีตัวอย่างรายการอาหารหรือเมนูต้านโควิด 19 อาทิ ผัดกะเพรา ต้มยำ นอกจากนี้ ควรดื่มน้ำเปล่าที่สะอาดอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพื่อรักษาสมดุลของร่างกาย ทั้งด้านอุณหภูมิ และการขับของเสียหรือเชื้อโรคออกจากร่างกาย

2. อนามัย ควรดูแลความสะอาดของใช้ และสุขนิสัยส่วนบุคคล ได้แก่ แยกของใช้ส่วนตัว หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำและสบู่อย่างน้อย 20 วินาที หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ 70% ล้างมือทุกครั้ง ก่อนรับประทานอาหาร หลังใช้ส้วม หรือหลังจากไอ จาม หรือหลังสัมผัสจุดเสี่ยงที่มีการใช้ร่วมกัน หลีกเลี่ยงการนำมือสัมผัสใบหน้า ตา จมูก และปากโดยไม่จำเป็น สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน และเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1-2 เมตร หลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่ที่มีคนหนาแน่น แออัด หรือพื้นที่เสี่ยงในกรณีที่อยู่ในบ้าน หากในบ้านมีพื้นที่จำกัด ให้สวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องมีการพูดคุยในระยะใกล้ และหมั่นสังเกตอาการของตนเอง และสมาชิกในครอบครัว รวมถึงบุคคลใกล้ชิด ทั้งที่พักอยู่ด้วยกันในชุมชน ห้องพัก หรือผู้มาเยี่ยม หากพบว่ามีอาการ ไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก เหนื่อยหอบ ให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อย ๆ แล้วแจ้งผู้นำชุมชน หรือหน่วยงานสาธารณสุขทันที และรีบไปพบแพทย์

3. ออกกำลังกาย อย่างน้อยให้ได้ 30 นาทีต่อวัน หากเป็นผู้สูงอายุอาจให้ออกกำลังกายเพียง 5 วัน ต่อสัปดาห์ โดยให้ออกกำลังกายประเภทที่สามารถทำได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะทำให้เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลได้ อาทิ การออกกำลังกายด้วยการแกว่งแขน การออกกำลังกายด้วยการขยับแขนขาโดยใช้เก้าอี้ การยืดเส้น การเล่นโยคะ การรำมวยจีน

4. อารมณ์ ควรดูแลสุขภาพจิตให้เข้มแข็ง โดยอาจลดหรือพักการติดตามข่าวโควิด 19 ลงบ้าง หากรู้สึกว่าการรับรู้ข่าวสารทำให้จิตใจหดหู่ ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์  และสูบบุหรี่ และควรผ่อนคลายความเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่ชื่นชอบและเป็นกิจกรรมที่สามารถทำได้ ตามหลักการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล อาทิ อ่านหนังสือ ดูหนัง/ฟังเพลง ปลูกต้นไม้ ทำสมาธิ นอกจากนี้ การติดต่อพูดคุยกับเพื่อนหรือญาติที่มีความสนิทสนมและไว้วางใจ จะช่วยให้ผ่อนคลายความวิตกกังวลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ลงได้

 

ภาพปก