พิธีสาร ค.ศ. 1996 ของอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันมลภาวะทางทะเลเนื่องจากการทิ้งวัสดุเหลือใช้และวัสดุอย่างอื่น ค.ศ. 1972

ผู้เรียบเรียง :
อนุชา ดีสวัสดิ์, นิติกรชำนาญการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2564-06
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ภาวะมลพิษทางทะเลอันเกิดจากเรือเดินทะเลถือเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศในทะเลเป็นอย่างมาก การให้ความสำคัญด้านการควบคุมภาวะมลพิษทางทะเลจากเรือต้องอาศัยความร่วมมือในหลายภาคส่วน ลักษณะภาวะมลพิษที่เกิดจากเรือเดินทะเลมีด้วยกันอยู่ 3 ลักษณะ คือ การทิ้งเท อุบัติเหตุในการเดินเรือ และการปล่อยทิ้งของเสียอันเกิดจากปฏิบัติการของเรือ ซึ่งของเสียอันเป็นมลพิษจากปฏิบัติการของเรือนี้ประกอบไปด้วย น้ำมัน สารอันตราย สิ่งปฏิกูล ขยะ และมลพิษทางอากาศ จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการในการควบคุมเพื่อให้มีแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ 

ปัจจุบันสนธิสัญญาเกี่ยวกับการป้องกันมลพิษทางทะเลจากการทิ้งเทมีอยู่หลายฉบับ โดยฉบับที่สำคัญและเป็นที่ยอมรับ คือ “อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันภาวะมลพิษทางทะเลจากการทิ้งเทของเสียและสสารอื่น ค.ศ. 1972” มีการแก้ไขเพิ่มเติมหลายครั้งจนกระทั่งถึงพิธีสาร 1996 หรือเรียกว่า “พิธีสารลอนดอน ค.ศ. 1996” มีหลักการสำคัญ คือ การห้ามทิ้งเทหรือเผาของเสียและวัสดุอื่นลงในทะเล เว้นแต่ได้รับอนุญาตหรือเข้าข้อยกเว้นตามพิธีสารฯ โดยกำหนดหน้าที่และให้อำนาจรัฐในการควบคุมและกำกับดูแลกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นการทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่นลงในทะเล เพื่อดูแลกิจกรรมการทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่นลงในทะเล โดยกำหนดระบบการอนุญาตและระบบการประเมินการทิ้งเทวัสดุลงทะเลเพื่อดูแลกิจกรรมการทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่นในทะเล 

พิธีสารลอนดอน ค.ศ. 1996 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2549 ปัจจุบันมีรัฐภาคีทั้งสิ้น 53 ประเทศ มีผลใช้บังคับบริเวณทะเลอาณาเขตและเขตเศรษฐกิจจำเพาะและเขตไหล่ทวีป ยกเว้นบริเวณน่านน้ำภายใน ทั้งนี้ พิธีสารดังกล่าวจะไม่ถูกบังคับใช้เมื่อมีกรณีจำเป็นต่อการป้องกันความปลอดภัยของชีวิตมนุษย์หรือของเรือ กรณีมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น โดยห้ามทิ้งเทของเสียหรือเผาของเสียหรือวัสดุอื่นทุกชนิด เว้นแต่ของเสียหรือวัสดุอื่นจำนวน 8 ประเภท ที่ได้รับข้อยกเว้นสามารถทิ้งเทได้ ได้แก่ 1) วัสดุที่ขุดลอก 2) กากตะกอนน้ำเสีย 3) ของเสียจากอุตสาหกรรมประมงและวัสดุจากการปฏิบัติการอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ 4) เรือ แท่นขุดเจาะ หรือสิ่งก่อสร้างอื่นที่มนุษย์สร้างขึ้นในทะเล 5) วัสดุทางธรณีวิทยา อนินทรีย์สารที่มีความเฉื่อย 6) วัสดุอินทรีย์จากธรรมชาติ 7) วัตถุขนาดใหญ่ 8) กระแสคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งนี้ วัสดุทั้ง 8 ประเภทข้างต้นจะต้องได้รับการอนุญาตก่อนทำการทิ้งเท โดยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณาอนุญาตตามที่รัฐภาคีกำหนด

ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ตั้งแต่ พ.ศ. 2554 จึงมีพันธกรณีในฐานะรัฐภาคีที่ต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาดังกล่าวในข้อ 210 ว่า “การเททิ้งภายในทะเลอาณาเขตและเขตเศรษฐกิจจำเพาะหรือบนไหล่ทวีปจะกระทำมิได้ หากไม่ได้รับความเห็นชอบล่วงหน้าอย่างชัดแจ้งจากรัฐชายฝั่งซึ่งมีสิทธิอนุญาต” ภาคีอนุสัญญามีหน้าที่ต้องจัดให้มีกฎหมายภายในเพื่อรองรับพันธกรณีดังกล่าว

คณะรัฐมนตรีได้เสนอ เรื่อง พิธีสาร ค.ศ. 1996 ของอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันมลภาวะทางทะเลเนื่องจากการทิ้งวัสดุเหลือใช้และวัสดุอย่างอื่น ค.ศ. 1972 ต่อที่ประชุมรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เมื่อวันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม 2563 โดยที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบกับพิธีสารฯ จากนั้นหน่วยงานผู้รับผิดชอบจะรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุม ไปเสนอในการยกร่างพระราชบัญญัติการป้องกันมลพิษทางทะเลเนื่องจากการทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่นลงทะเล พ.ศ. …. ให้กับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อจะนำกลับมาขอความเห็นชอบจากรัฐสภาอีกครั้ง และเสนอกระทรวงการต่างประเทศเพื่อการดำเนินการให้สัตยาบันในพิธีสารต่อไป

การเข้าเป็นภาคีพิธีสารฉบับนี้จะช่วยปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลตามกระแสสังคมปัจจุบันที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับปัญหามลพิษทางทะเล เห็นได้จากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ขณะที่ประโยชน์ของการเข้าเป็นภาคีพิธีสารระดับภายในประเทศ ถือเป็นการยกระดับกฎหมายของประเทศที่จะมีกฎหมายเฉพาะ ซึ่งกำหนดมาตรฐานการป้องกันควบคุมการทิ้งเทของเสียที่จะก่อให้เกิดมลพิษทางทะเลที่มีเอกภาพ ครอบคลุม และมีประสิทธิภาพการบังคับใช้ มีการควบคุมป้องกันตั้งแต่ต้นทางปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และน่านน้ำชายฝั่ง จากการที่เรือต่างชาติลักลอบนำของเสียหรือวัสดุทิ้งเทในพื้นที่ทางทะเลของไทย อีกทั้งการเข้าเป็นภาคีพิธีสารจะเป็นการเริ่มต้นมุ่งสร้างวินัยให้คนในชาติในการปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล ซึ่งเป็นมรดกทางธรรมชาติที่สำคัญของประเทศไทย

ภาพปก